ถึงตายได้ด้วยไข้กาฬหลังแอ่น (ตอนที่ 1)

ถึงตายได้ด้วยไข้กาฬหลังแอ่น-1

ดร.น.พ.สุวิช ธรรมปาโล ผอ.สคร.ที่ 12 จ.สงขลา เปิดเผยว่า กลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สคร.ที่ 12 จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 20 มิถุนายน 60 พบว่าพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จ.ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลาและ จ.นราธิวาส มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่น 4 ราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย

ดร.นพ.สุวิช อธิบายว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่นเกิดกับทุกเพศทุกวัย มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อได้โดยการสัมผัสโดยตรง จากละอองฝอย น้ำมูก น้ำลายและเสมหะผู้ป่วยและผู้ที่เป็นพาหะ

โดยอาการของโรค คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะมาก อาเจียน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีเลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจุดแดงทั่วตัว เปลี่ยนเป็นจุดสีคล้ำจนกลายเป็นสะเก็ดสีดำ จะมีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองอย่างรุนแรง มีอาการสำคัญที่เรียกว่า “คอแข็ง” บางรายมีอาการรุนแรงช็อกถึงตายได้ในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง

ดร.นพ.สุวิช กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ที่ถูกตัดม้ามหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เพราะคนเหล่านี้เมื่อติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น จะมีโอกาสเป็นแบบติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดชนิดที่รุนแรงได้มากกว่าคนปกติทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ต้องทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น และผู้ที่จะเดินทางไปประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา

ดร.นพ.สุวิช แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด ผู้คนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากจำเป็นต้องเข้าไป ควรสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันตนเองจากการสัมผัสกับละอองน้ำมูก น้ำลายจากผู้อื่น ด้วยการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารหรือปรุงอาหาร รักษาสุขภาพให้แข็งแรง การออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ

โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal meningitis) เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้ยากแต่มีความรุนแรง เกิดจากการที่เยื่อบุสมอง (Membranes) และไขสันหลัง เกิดการอักเสบ โรคไข้กาฬหลังแอ่นสามารถทำให้คนเสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทัน โดยร้อยละ 20 ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง

ตามสถิติของ หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control = CDC) พบว่าร้อยละ 15 ของผู้ที่รอดชีวิตจะมีความพิการ เช่น หูหนวก สมองถูกทำลาย และมีปัญหาทางระบบประสาท (Neurological problems)

ส่วนใหญ่สาเหตุหลักของโรคไข้กาฬหลังแอ่นคือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Neisseria meningitidis หรือที่เรียกว่า Meningococcus ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดโรคไข้กาฬหลังแอ่นในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่เชื้อนี้จะเป็นสาเหตุอันดับสอง

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แบ่งเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นออกเป็น 12 ชนิด โดย 6 ชนิดที่สามารถแพร่ระบาดได้ คือ ชนิด A, B, C, W, X และ Y

แหล่งข้อมูล:

  1. 'โรคไข้กาฬหลังแอ่น' ระบาด7จังหวัดภาคใต้. http://www.thaihealth.or.th/Content/37449-'โรคไข้กาฬหลังแอ่น' ระบาด7จังหวัดภาคใต้.html [2017, July 21].
  2. An Overview of Meningococcal Meningitis.http://www.webmd.com/children/meningococcal-meningitis-symptoms-causes-treatments-and-vaccines#1 [2017, July 21].
  3. Meningococcal meningitis. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs141/en/ [2017, July 21].