ถั่วเหลืองกับสุขภาพ ตอน 4 ผลของผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองต่อสุขภาพ

ถั่วเหลืองกับสุขภาพ-4

      

เมนูอร่อย สไตล์สุขภาพ

      

ถั่วเหลืองกับสุขภาพ

ตอน 4 ผลของผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองต่อสุขภาพ

      

      ถั่วเหลืองลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน

      อาหารและการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตสามารถลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนได้ คือการได้รับอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นประจำ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยชะลอการสลายของกระดูกทำให้ความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มขึ้น และอาหารบางอย่างยังมีผลในการสูญเสียของเนื้อกระดูกได้แก่ คาเฟอีน แอลกฮอล์ ฯลฯ อาหารจากถั่วเหลืองช่วยลดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนได้ดังนี้

- ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมีแคลเซียมสูง

- โปรตีนจากถั่วเหลืองช่วยให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมลดลง จากการศึกษาผู้ที่บริโภคโปรตีนจากถั่วเหลืองแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์จะมีการขับแคลเซียมในปัสสาวะลดลง

- ในถั่วเหลืองมี daidzein และ genistein ซึ่งเป็นสาร isoflavones ช่วยระงับการสลายของกระดูก

      ถั่วเหลืองช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

      อาหารถั่วเหลืองมี phytochemical คือ isoflavones ซึ่งจากหลายการศึกษาแสดงว่า อาหารถั่วเหลืองช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง สารประกอบในถั่วเหลืองที่มีบทบาทในการเป็นสารต้านมะเร็งได้แก่ genistein ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ที่เปลี่ยนเซลล์ปกติไปเป็นเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ genistein ยังช่วยยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนที่มีผลกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อจึงช่วยยับยั้ง การเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ยังมีสารอื่นในถั่วเหลืองที่มีบทบาทยับยั้งการเกิดมะเร็งได้แก่ saponin, trypsin inhibitors และ phytate (inositol phosphate)

      ถั่วเหลืองกับโรคเบาหวาน

- โปรตีนจากถั่วเหลืองอาจช่วยยับยั้งการเกิดผลที่ตามมาของเบาหวานคือโรค หลอดเลือดอุดตันและโรคไต

- ถั่วเหลืองมี glycemic index ต่ำ นั่นคือการบริโภคถั่วเหลือง ทำให้ระดับ น้ำตาลในเลือดขึ้นได้ช้าทั้งนี้เนื่องจากถั่วเหลืองมีสารไฟเตทและแทนนิน ซึ่งจะทำให้การย่อยและดูดซึมแป้งลดลง

- ถั่วเหลืองมี soluble fiber ช่วยให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลง

- อาหารถั่วเหลืองลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้ากระแสเลือด

      ถั่วเหลืองลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด

      ถั่วเหลืองมีไขมันอิ่มตัวต่ำ ไม่มีโคเลสเตอรอล โปรตีนในถั่วเหลืองช่วยลดโคเลสเตอรอล จากการศึกษามากกว่า 40 การศึกษาแสดงว่าโปรตีนจากถั่วเหลืองช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดลดลงได้ถึงร้อยละ 10-15 ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจวายได้ สารgenistein ยับยั้งการเกิด plaque ที่เกาะผนังเส้นเลือดที่จะทำเส้นเลือดอุดตัน และยังช่วยยับยั้งการเกิดการจับตัวของเกร็ดเลือดที่ทำให้เกิดก้อนลิ่มเลือด

      ถั่วเหลืองมีแร่ธาตุเหล็กสูง

      ถั่วเหลืองมีแร่ธาตุเหล็กสูง ในขณะเดียวกันถั่วเหลืองก็มีสารต้านการดูดซึมธาตุเหล็กด้วย ได้แก่ ไฟเตท และแทนนิน ดังนั้นการเสริมให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากถั่วเหลืองจึงอาจทำได้ดังนี้

- การเสริมเนื้อสัตว์ในอาหารถั่วเหลือง

- การเสริมวิตามินซีจากอาหารในมื้อที่มีถั่วเหลือง เช่น ผลไม้ น้ำผลไม้ พืชผักที่มีวิตามินซีสูง

      ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ดูแลใส่ใจสุขภาพ ดังนั้นในตอนถัดไปดิฉันได้ทดลอง ดัดแปลงเมนูอาหารที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองให้ทุกท่านได้ทดลองประกอบอาหาร ทำรับประทานกันในครอบครัว

      

แหล่งข้อมูล:

  1. ชรินทร์ ถาวรคุโณ.ไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลือง:ชีวเคมี กลไกการออกฤทธิ์ และความเกี่ยวข้องในการป้องกันมะเร็งเต้านม.[อินเตอร์เน็ต]. 2014 [เข้าถึงเมื่อ 30 พฤษภาคม 2561]; เข้าถึงได้จาก: https://www.tci-thaijo.org/index.php/gst/article/download/16702/22823
  2. อาณดี นิติธรรมยง,ประไพศรี ศิริจักรวาล. ถั่วเหลืองกับสุขภาพ.บทความด้านอาหารและโภชนาการ สถาบันโภชนาการ [อินเตอร์เน็ต]. 2010 [เข้าถึงเมื่อ 30 พฤษภาคม 2561]; เข้าถึงได้จาก: www.inmu.mahidol.ac.th/th/knowledge/view.php?id=68