ถั่วเหลืองกับสุขภาพ ตอน 3 ใยอาหารจากถั่วเหลือง

ถั่วเหลืองกับสุขภาพ-3

      

เมนูอร่อย สไตล์สุขภาพ

      

ถั่วเหลืองกับสุขภาพ

ตอน 3 ใยอาหารจากถั่วเหลือง

      

      ใยอาหาร (dietary fiber) สำหรับเรียกใยอาหารที่ได้มาจากส่วนต่างๆ ของพืช และคำศัพท์ added fiber สำหรับใยอาหารที่ได้มาจากการสกัดสารออกจากพืช โดยต้องมีข้อพิสูจน์ว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย (physiological effects) ใยอาหารถูกนำมาใช้ในการทำโภชนบำบัดเพื่อบรรเทาอาการโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น จากผลงานวิจัยจำนวนมากที่ยืนยันประโยชน์ของใยอาหารต่อการป้องกันและบำบัดโรคเรื้อรังต่างๆ ปัจจุบันได้มีข้อกำหนดให้ระบุปริมาณใยอาหารในผลิตภัณฑ์อาหารลงบนฉลากโภชนาการ ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ใช่ข้อบังคับเป็นการขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตอาหาร

      ถั่วเหลืองเป็นแหล่งที่ดีของใยอาหาร ในเปลือกถั่วเหลืองจะมีปริมาณใยอาหารทั้งหมดประมาณ 87% ใยอาหารนั้นประกอบด้วยเซลลูโลส 40-53% เฮมิเซลลูโลส 14-33% และที่เหลือเป็นใยอาหารที่ละลายน้ำ สำหรับถั่วเหลืองทั้งเมล็ดจะมีใยอาหารประมาณ 20-30% นับเป็นปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับผักและผลไม้สด ใยอาหารถึงแม้ไม่ได้จัดเป็นสารอาหาร แต่ก็มีประโยชน์กับสุขภาพในแง่ของการป้องกันและบรรเทาโรคต่างๆ เช่น ท้องผูก ผนังลำไส้โป่งพอง เบาหวาน และมะเร็ง ปัจจุบันนักโภชนาการแนะนำให้รับประทานใยอาหาร 25-30 กรัม/วัน สำหรับใยอาหารจากถั่วเหลืองนั้น ได้มีการศึกษาว่ามีผลต่อสุขภาพหลายประการที่สำคัญได้แก่

      - ใยอาหารจากถั่วเหลืองสามารถลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ในผู้ที่มีปัญหาระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเช่นเดียวกับโปรตีนจากถั่วเหลือง ผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลปกติพบว่าการบริโภคอาหารที่มีใยถั่วเหลืองประมาณ 25 กรัม ร่วมกับอาหารที่มีปริมาณไขมันและโคเลสเตอรอลต่ำ สามารถลดโคเลสเตอรอลทั้งหมดได้มากกว่าการจำกัดไขมันเพียงอย่างเดียวจะลด LDL โคเลสเตอรอล ไม่มีผลกับ HDL โคเลลสเตอรอล

      - การบริโภคใยอาหารจากถั่วเหลืองยังสามารถช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด และโรคเบาหวาน จากการวิจัยพบว่าใยอาหารสามารถชะลอการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด และลดความต้องการอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งกลุ่มที่ต้องพึ่งอินซูลินและไม่พึ่งพาอินซูลิน ปริมาณใยอาหารจากถั่วเหลืองที่รายงานได้ผลจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 10-25 กรัม

      - การขัดขวางการดูดซึมแร่ธาตุ พบว่าการเสริมใยอาหารจากถั่วเหลืองสูงถึง 25-30กรัม/วันไม่มีผลดังกล่าว

เปรียบเทียบใยอาหารจากถั่วเมล็ดแห้งชนิดต่างๆ (คิดต่อ 100 กรัม ของถั่วเมล็ดแห้ง)
รายการ
ใยอาหาร (กรัม)
รายการ
ใยอาหาร (กรัม)
ถั่วเหลือง
21.9
ถั่วขาว
10.7
ถั่วแดงหลวง
25.4
ถั่วเขียว
26.1
ถั่วแดง
27.8
ถั่วลิสง
20.0

      

แหล่งข้อมูล:

  1. อาณดี นิติธรรมยง,ประไพศรี ศิริจักรวาล. ถั่วเหลืองกับสุขภาพ.บทความด้านอาหารและโภชนาการ สถาบันโภชนาการ [อินเตอร์เน็ต]. 2010 [เข้าถึงเมื่อ 4 พฤษภาคม 2561]; 2-3. เข้าถึงได้จาก: www.inmu.mahidol.ac.th/th/knowledge/view.php?id=68
  2. อัญชลี ศรีเจริญ. อาหารและโภชนาการ การป้องกันและการบำบัดโรค.กรุงเทพฯ: บริษัท แอคทีฟ พริ้นท์ จำกัด;2553
  3. สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2548).Food Composition Database for Inmucal Program.