ต้อหิน: ภัยเงียบที่มืดบอด

ต้อหินได้ชื่อ “ภัยเงียบที่มืดบอด” เนื่องจาก 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย จะไม่แสดงอาการในระยะแรกแต่มีการดำเนินโรคอย่างเงียบเชียบ และจะสังเกตได้เมื่ออาการเข้าขั้นรุนแรง ซึ่งมีส่วนทำให้โรคต้อหินเป็นสาเหตุของการตาบอดถาวรสูงที่สุด ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยสูงถึงสองล้านสี่แสนคน

เพื่อกระตุ้นการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับโรคต้อหิน พญ. มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ รศ. นพ. ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ ประธานชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และชมรมจะจัดงาน “รวมพลังระวังต้อหิน เนื่องในวันต้อหินโลก ปี 2555” ขึ้นในวันที่ 4 มี.ค. 55 เวลา 06.00 - 12.00 น. ณ อาคารพลเมืองอาวุโส สวนลุมพินี

และในวันที่ 27 ก.พ.- 4 มี.ค. 55 กทม. ได้จัดสัปดาห์ป้องกันโรคต้อหิน โดยได้รับความร่วมมือจากสถานพยาบาล ในสังกัด กทม. ซึ่งเป็นโรงพยาบาล 9 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ร่วมกันให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคต้อหิน วัดความดันลูกตา เพื่อให้ประชาชนตระหนัก เห็นความสำคัญ และรับการตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ

บุคคลที่นับเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคต้อหิน ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีสายตายาวมาก ผู้ที่เคยผ่าตัด หรือเคยมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา และผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นต้อหิน

ต้อหินเป็นโรคที่เกิดกับระบบประสาทตาโดยเกิดความเสียหายจากการเพิ่มขึ้นของแรงดันของเหลวในตาอย่างมีรูปแบบจากการไหลเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงตา (Aqueous humor) อุดตัน ทำให้ความดันในลูกตาสูงผิดปกติ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียการมองเห็นและนำไปสู่การมีตาบอดถาวรหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

ปัจจัยชี้วัดความเสี่ยงของการเป็นต้อหินคือความดันลูกตาที่เกิน 21 mmHg แม้จะมีผู้ที่ความดันลูกตาสูงเป็นระยะเวลานานแต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายกับระบบประสาทตามาก แต่หากปล่อยให้เกิดต้อหินขึ้นแล้ว ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจะทำให้เกิดความเสียหายถาวรกับระบบประสาทตา และส่งผลให้สูญเสียการมองเห็น และนำไปสู่อาการตาบอดได้ในที่สุด

ต้อหินแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ต้อหินชนิดมุมเปิด (Open angle glaucoma) และต้อหินชนิดมุมปิด (Closed angle glaucoma) มุมในที่นี้หมายถึงพื้นที่ระหว่างม่านตากับกระจกตาดำเป็นทางระบายท่อน้ำเลี้ยงลูกตา

ต้อหินชนิดมุมปิดมักก่อให้เกิดความเจ็บปวดและมักเกิดอย่างเฉียบพลัน อัตราการสูญเสียการมองเห็นเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ความเจ็บปวดและความตื่นตัวดังกล่าวก็มีข้อดีคือจะทำให้คนไข้ไปพบแพทย์ทันที และทำให้ได้รับการรักษาต้อหินได้ทันเวลาก่อนที่จะเกิดความเสียหายถาวร

ในขณะที่ต้อหินชนิดมุมเปิด เป็นต้อหินชนิดเรื้อรังซึ่งพัฒนาการของโรคจะเป็นไปอย่างช้าๆ และคนไข้อาจไม่ได้สังเกตการค่อยๆสูญเสียการมองเห็นนี้ จนกว่าโรคได้พัฒนาจนรุนแรงไปมากแล้ว ซึ่งเป็นที่มาของฉายา “ภัยเงียบที่มืดบอด” นั่นเอง

ขอปิดท้ายด้วยเนื้อเพลง “ต้อหิน” ที่เคยรู้จักกันแพร่หลาย ดังนี้

“ต้อหิน ต้อหิน ต้อหิน กัดกินถึงขั้วจอตา ปล่อยไว้ไม่ตรวจรักษา พอถึงเวลาตาบอดไม่รู้ตัว”

แหล่งข้อมูล:

  1. กทม.-ชมรมต้อหิน แนะประชาชนตรวจตาก่อนสูญเสียถาวร http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000024795 [2012, February 28].
  2. Glaucoma. http://en.wikipedia.org/wiki/Glaucoma [2012, February 28].
  3. ร่วมเดินณรงค์ รวมพลังระวังต้อหิน http://www.thaiglaucoma.org [2012, February 28].