ต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

โรคต้อหินเฉียบพลันคืออะไร? มีอาการอย่างไร? รุนแรงไหม?

ในบรรดาโรคต้อทั้งหลายที่ร้ายแรงที่สุด เป็นที่ทุกขเวทนาที่สุดสำหรับผู้ป่วย คงเป็นอื่นไปไม่ได้ ต้องเป็น โรคต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma) หรือ ต้อหินมุมปิด (Closed angle glaucoma หรือ Angle closure glaucoma)” เพราะทำให้ผู้ป่วยทั้ง ตาแดง ปวดตา และตาบอดในเวลาอันสั้น ทุกอย่างเป็นไปอย่างฉับพลัน, โรคต้อหินเรื้อรังว่าร้ายแรงแล้วยังถือว่าน้อยกว่ามาก เพราะต้อหินเรื้อรังกว่าตาจะบอดต้องใช้เวลานานหลายๆปี อีกทั้งเมื่อตาไม่เห็นแล้วก็ไม่มีอาการอื่น ไม่มีตาแดง และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปวดตาเลย เรียกกันว่า ตาบอด ตาใส

ส่วนต้อหินเฉียบพลันจะมีอาการหลัก 3 อย่าง ทั้ง 3 อย่างทำให้ผู้ป่วยทรมานทั้งสิ้นได้แก่ ตาแดง, ตามัว, และปวดตาที่ส่วนใหญ่จะปวดหัวไปทั้งซีกเลย,อาจร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน, ซึ่งตามัวและตาบอดจะเกิดอย่างรวดเร็วในไม่กี่วัน หากรักษาไม่ทัน

หากท่านมีญาติผู้ใหญ่มีอาการ 3 อย่างข้างต้น ต้องรีบพาไปพบหมอด่วนที่สุด โดยเฉพาะ หมอตา (จักษุแพทย์) มิเช่นนั้นตาอาจบอดโดยไม่มีวิธีแก้ไข

อนึ่ง: บทความนี้เขียนถึงเฉพาะ 'ต้อหินเฉียบพลัน' เท่านั้น ส่วน 'ต้อหินเรื้อรัง' แยกเขียนไว้ในอีกบทหนึ่ง อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ต้อหินเรื้อรัง

ต้อหินเฉียบพลันเกิดได้อย่างไร?

 

ต้อหินเฉียบพลันก่อให้เกิด ปวดตา ตามัว ตาแดง ได้อย่างไร กล่าวคือลูกตาคนเราเป็นรูปทรงกลม มีอวัยวะที่ละเอียดอ่อนภายในเพื่อให้เกิดกลไกการมองเห็น เปรียบเสมือนเป็นกล้อง ถ่ายรูปขนาดจิ๋ และภายในดวงตายังมีน้ำทั้งชนิดใสและข้นเป็นองค์ประกอบ ทำให้ลูกตาเกิดแรงดันอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้เครื่องมือไปวัดจะได้ประมาณ 10 - 20 มิลลิเมตรปรอท (มม.ปรอท)

น้ำในลูกตามีการไหลเวียนแลกเปลี่ยนกับกระแสเลือด มีน้ำเข้าในและออกนอกลูกตาเป็นประจำ น้ำเข้าและออกจะได้สมดุลกัน นำมาซึ่งความดันตาค่อนข้างคงที่อยู่ในช่วง 10 - 20 มม.ปรอท

ในผู้ป่วยที่เป็นต้อหินเฉียบพลันนั้นเกิดจากกลไกการไหลเวียนนี้ผิดพลาด น้ำออกจากตาน้อยกว่าน้ำเข้าตา ทำให้ความดันตาขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว จาก 10 - 20 มม.ปรอท มาเป็น 50 - 60 มม.ปรอท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ปวดตา และ ปวดหัว อย่างรุนแรงในทันทีขณะเดียวกันแรงดันที่สูงขนาดนี้ทำให้กระจกตา (ตาดำ) ที่ปกติใสจะขุ่นมัวทันที ทำให้ผู้ป่วย 'ตามัวลงอย่างทันที' ด้วย

แล้วทำไมการไหลเวียนจึงเกิดการติดขัดทันที ทั้งนี้เป็นจากกายวิภาค (รูปร่าง ลักษณะ) ของตาผู้ป่วยที่มีช่องต่างๆภายในดวงตาที่แคบเกินไปในบางช่อง โรคนี้จึงเกิดได้เฉพาะในคนที่มีกายวิภาคภายในของตาผิดปกติ มองข้างนอกจะเป็นลูกตาปกติ ร่วมกับภาวะแวดล้อมที่ทำให้ม่านตาขยายผิดปกติ เช่น จากการใช้ยาบางชนิด และมักพบโรคนี้ในผู้หญิงสูงอายุ ด้วยเหตุที่ผู้หญิงมักมีขนาดดวงตาเล็กกว่าผู้ชาย เมื่ออายุยิ่งมากขึ้น จึงดูเหมือนขนาดแก้วตาซึ่งอยู่ภายในดวงตาใหญ่ขึ้น (เพราะเนื้อเยื่อบางส่วนของตาเสื่อมลงตามวัย)จึงทำให้ช่องต่างๆ ภายในดวงตาแคบลงนั่นเอง

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินเฉียบพลันมีอะไรบ้าง?

แม้ว่าเราจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของความดันตาสูงขึ้นอย่างกะทันหัน แต่พอจะทราบว่า ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดโรคต้อหินเฉียบพลันนี้มีใครบ้าง ซึ่งทั่วไปได้แก่

  • ผู้ป่วยบางเชื้อชาติ เช่น ชาวเอเชียพบมากกว่าชาวยุโรป
  • ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
  • อายุที่มากขึ้นมีโอกาสเป็นมากขึ้น มักพบในอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • มีบิดามารดาและ/หรือญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ กล่าวคือเป็นโรคทางพันธุกรรม
  • ส่วนใหญ่โรคนี้จะเป็นอย่างฉับพลันโดยไม่มีโรคตาอื่นนำมาก่อน มีบ้างที่เกิดจากมีโรคตาบางอย่าง เช่น เป็นต้อกระจกที่ต้อแก่แล้วไม่ไปรับการผ่าตัด, หรือได้รับอุบัติเหตุจนแก้วตาเคลื่อนไปจากเดิม

มีอาการอะไรบ้างที่น่าสงสัยเป็นต้อหินเฉียบพลัน?

ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเตือนนำมาก่อนการเกิดต้อหินเฉียบพลัน อาการเตือนต่างๆ ได้แก่ รู้สึกปวดตาเวลาใช้สายตามากๆ ทำให้ตาพร่าไปชั่วคราว เมื่อได้นอนพักอาการดีขึ้น, แต่จะมีอาการแบบนี้บ่อย, ตามักพร่ามัวเวลาพลบค่ำ, บางครั้งมองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ,พอนอนพัก อาการจะดีขึ้น

ดังนั้น ผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้หญิงหากมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์ยเฉพาะหมอตา ซึ่งหากหมอตาพบว่าเป็นอาการเตือนของโรคนี้ร่วมกับมีกายวิภาคทางตาที่แคบหรือตื้น การป้องกันด้วยการใช้แสงเลเซอร์รักษาจะป้องกันโรคนี้ได้ตลอดไป

ควรพบแพทย์เมื่อไร? และต้อหินมีแนวทางการรักษาอย่างไร?

ดังได้กล่าวแล้วว่า อาการสำคัญของต้อหินเฉียบพลันมี 3 อย่าง ได้แก่ ตาแดง, ตามัวและ ปวดตา; อาการเหล่านี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินต้องรีบพบหมอตาทันที ซึ่งหากแพทย์วินิจฉัยได้เร็วให้ยาลดความดันตา, ตามด้วยการยิงแสงเลเซอร์, อาการทั้ง 3 อย่างข้างต้นจะหายเป็นปลิดทิ้ง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลแต่อย่างใด

แต่ถ้าผู้ป่วยมาพบหมอตาช้าเกินไป การรักษาจะยุ่งยากยิ่งขึ้น การยิงเลเซอร์อาจทำไม่สำเร็จ/ไม่ได้ผล จำเป็นต้องให้ยาช่วย หรือที่รุนแรงอาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดตาด้วยเทคนิคเฉพาะเมื่อไม่สามารถควบคุมความดันตาให้ลงมาสู่ระดับปกติได้, หรือถ้าบางคนมาช้าเกินไป หมออาจรักษาได้แค่หายปวด แต่ตาไม่กลับมาเห็นได้อีก

อนึ่งผู้ป่วยโรคนี้หากเป็นกับตาข้างหนึ่งแล้ว ตาอีกข้าง’ อาจเป็นในเวลาต่อมา ซึ่งแพทย์มักจะยิงแสงเลเซอร์ป้องกันภาวะนี้ในตาอีกข้างด้วย ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้จึงควรพบหมอตาตามนัดเสมอ อย่าได้นิ่งนอนใจ

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430857/  [2023,March11]