“ต้อหิน” ตรวจก่อน เจอก่อน ตาไม่บอด (ตอนที่ 4)

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นต้อหินขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหินที่เป็น ปัจจัยเสี่ยงของต้อหินมุมเปิด รวมถึง :

  • ความดันในลูกตาที่สูงขึ้นทำให้มีโอกาสเป็นต้อหินมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน เพราะประมาณร้อยละ 40 - 50 ของคนที่เป็นต้อหินมีความดันในลูกตาปกติ และคนที่มีความดันในลูกตาสูงก็ไม่ได้เป็นต้อหินทุกคน อาการความดันในลูกตาสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างเดียว ที่รักษาได้สำหรับต้อหินมุมเปิด อย่างไรก็ดีกรณีที่มีความดันในลูกตาสูงแต่ไม่ได้เป็นต้อหินควรมีการพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างระมัดระวัง
  • อายุที่มากขึ้นเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นต้อหิน โดยความเสี่ยงจะสูงขึ้นหลังอายุ 40 ปี เป็นต้นไป
  • เชื้อชาติ - คนผิวดำมีความเสี่ยงในการเป็นต้อหินมากกว่าคนผิวขาว
  • ประวัติคนในครอบครัว – คนที่มีญาติเป็นต้อหินมุมเปิด มีความเสี่ยงในการเป็นเพิ่มขึ้น 9 เท่า ในกรณีนี้การเปลี่ยนแปลงในตา มีขั้วประสาทตาใหญ่ขึ้น (Enlarged cup-disc ratio) แต่ไม่มีความดันเพิ่ม อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเป็นต้อหินชนิดนี้
  • มีการสูญเสียการมองเห็นในตาข้างหนึ่งจากการเป็นต้อหินมาก่อน ถ้าต้อหินไม่ได้รับการรักษา โอกาสที่จะเกิดต้อหินในตาอีกข้างภายในเวลา 5 ปี มีประมาณร้อยละ 29
  • คนที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสที่ความดันในลูกตาจะสูงกว่าคนปกติทั่วไป และคนที่เป็นโรคเบาหวานอาจเป็นต้อหินแบบชั่วคราวได้ด้วย

ปัจจัยเสี่ยงของต้อหินมุมปิด รวมถึง :

  • เชื้อชาติ – คนที่มาจากเอเชียตะวันออกหรือมีบรรพบุรุษมาจากเอเชียตะวันออก เช่น ชาวแคนาดา ชาวอลาสก้า และชาวกรีนแลนด์ มักมีโอกาสเป็นต้อหินมุมปิดมากกว่าคนอื่น
  • อายุ – คนที่อายุ 40 ปี ขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเป็นต้อหินมุมปิดสูงขึ้น
  • เพศ – ผู้หญิงสูงอายุมักเป็นต้อหินมุมปิดสูงกว่าผู้ชายสูงอายุ
  • สายตายาว – ผู้ที่มีสายตายาวมีโอกาสเป็นต้อหินมุมปิด เพราะตาจะเล็กกว่าและมุมระบายน้ำในตา (Drainage angle) มักจะแคบกว่า ทำให้ของเหลวอุดตันได้ง่าย
  • ประวัติครอบครัว – คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหินมุมปิดมีโอกาสในการเป็นมากกว่าปกติ
  • เคยเป็นต้อหินมุมปิดในตาข้างหนึ่ง – จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นอีกข้าง ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่เป็นต้อหินมุมปิดในตาข้างหนึ่ง มักจะเป็นต้อหินมุมปิดในตาอีกข้างหนึ่งในระยะเวลา 5 ปี

ปัจจัยเสี่ยงของต้อหินโดยกำเนิด รวมถึง :

  • แม่ติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ - ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อไวรัส เช่น โรคหัดเยอรมัน ระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นต้อหินโดยกำเนิดสูง
  • กรรมพันธุ์ – ร้อยละ 10 ของทารกที่เป็นต้อหินโดยกำเนิดมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์

แพทย์ทั่วไปจะประเมินว่าเป็นต้อหินโดยดูจากประวัติและทำการตรวจทางกายภาพ ถ้าพบว่าเป็นต้อหินก็จะส่งต่อให้จักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจสอบและรักษา สำหรับต้อหินมุมเปิดแล้ว การตรวจพบและรักษาในระยะเนิ่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะใช้ควบคุมและป้องกันการตาบอดได้ ส่วนหินมุมปิดหรือต้อหินแบบเฉียบพลันนั้นต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน

แหล่งข้อมูล

  1. Glaucoma - What Increases Your Risk. http://www.webmd.com/eye-health/tc/glaucoma-what-increases-your-risk [2013, February 6].
  2. Glaucoma - Exams and Tests. http://www.webmd.com/eye-health/tc/glaucoma-exams-and-tests [2013, February 6].