ต้นทุนโรคหัวใจ ใครอยากรู้บ้าง?

เมื่อเราคิดถึงโรคหัวใจ เรามักนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทะหัน กล่าวคือ อาการหัวใจล้ม (Heart attack) แต่จริงๆ แล้ว นั่นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของเรื่องราวทั้งหมด

อันที่จริง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะฟื้นจากอาการหัวใจล้มครั้งแรก ซึ่งเป็นข่าวดี แต่ข่าวร้ายก็คือ หลังจากนั้นมักเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ในชีวิต กล่าวคือ โรคหัวใจ ความเสี่ยงมิได้อยู่ที่ [การบำบัด] ทางการแพทย์ แต่โรคหัวใจอาจ “เผาผลาญ” การเงินของทั้งครอบครัว และจำกัดความสามารถในการทำงานของผู้ป่วย

ในสหรัฐอเมริกาโรคหลอดเลือดหัวใจมีต้นทุนทั้งสิ้นปีละ 273 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งรวมทั้งอาการหัวใจล้ม โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral) และโรคความดันโลหิตสูง และในจำนวนเงินทั้งหมดที่จัดสรรให้สาธารณสุขของชาวอเมริกันนั้น 17% ใช้จ่ายเพื่อโรคหลอดเลือดหัวใจ

นายแพทย์ Paul A. Heidenreich ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ณ Palo Alto Health Care System ขององค์การทหารผ่านศึก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และรองศาสตราจารย์การแพทย์ ณ มหาวิทยาลัย Stanford กล่าวว่า ภาวะหัวใจ อาทิ หัวใจวาย (Heart failure) อาการหัวใจล้ม การผ่าตัดหัวใจบายพาส (Bypass) เป็นต้น ก่อให้เกิดต้นทุนเกือบ 96 พันล้านดอลาร์ (ประมาณ 2.88 ล้านล้านบาท) ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

แล้วต้นทุนต่อหัวล่ะ? การวิจัยได้ประมาณการว่า ในช่วงอายุคนคนหนึ่ง ภาวะรุนแรงจากการอุดตันของหลอด เลือดที่หล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อหัวใจ ซึ่งเป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยมากที่สุด มีต้นทุนมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30 ล้านบาท) ซึ่งรวมทั้งต้นทุนทางตรง และต้นทุนทางอ้อม ดังต่อไปนี้

ต้นทุนทางตรง ซึ่งจะก้าวกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังหัวใจล้มแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายทันทีดังนี้ : การขนส่งโดยรถพยาบาล การทดสอบในการตรวจวิเคราะห์ การนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และอาจต้องมีการผ่าตัด และฝังเครื่องควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) หรือ ฝังเครื่องลดการกระตุกของเส้นใยกล้ามเนื้อหัวใจ (Defibrillator) การบำบัดรักษาระยะยาว (ซึ่งรวมถึงการรับยา การทดสอบตรวจวิเคราะห์ และการนัดแพทย์) ก็มีค่าใช้จ่ายสูง

ส่วนต้นทุนทางอ้อม ซึ่งอาจยากกว่าในการค้นหา แต่ก็เป็นเงินที่สูงมาก สิ่งที่สูญเสียมากที่สุดได้แก่ ผลิตผล (Productivity) และรายได้ ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถกลับไปทำงานตามปรกติหลังจากหัวใจล้ม 2 – 3 เดือน แต่การขาดรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจเป็นภาระการเงินที่หนักหน่วง ผลการสำรวจแสดงว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง อาจไม่สามารถกลับไปทำงานเต็มเวลาได้อีก หรือทำงานไม่ได้เลย

ผู้คนที่ไม่มีประกันสุขภาพ หรือประกันใดๆ จะประสบปัญหาการเงินอย่างหนักทันที เมื่อป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่ก็อาจเป็นสถานการณ์ของผู้มีประกันสุขภาพพอสมควร การขาดรายได้ประจำที่เคยได้ อาจทำให้ผลกระทบเหมือนคนพิการ และถึงแม้ว่า คุณมิได้ป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่ก็มีต้นทุนของการจ่ายภาษีและเบี้ยประกันสุขภาพอยู่ดี ซึ่งปรกติ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวต่อหัว เป็นมูลค่าปีละ 878 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 26,340 บาท)

แหล่งข้อมูล:

  1. Heart Disease: What Are the Medical Costs? http://www.webmd.com/healthy-aging/medical-cost-disability-11/heart-disease [2011, November 21].