ต่อมน้ำลายอุดตัน (ตอนที่ 1)

ต่อมน้ำลายอุดตัน

มีคนรู้จักบ่นว่า รู้สึกจะมีอะไรอยู่ในลำคออยู่เสมอ เจ็บและบวมเล็กน้อย คิดว่าเป็นติ่งหรือก้อนเนื้อ เป็นมานานมากกว่าสัปดาห์แล้ว จึงไปพบแพทย์หู คอ จมูก แพทย์ตรวจสักพักก็วินิจฉัยว่าเป็น “ต่อมน้ำลายอุดตัน” ให้ยาฆ่าเชื้อมากิน อีก 2 สัปดาห์จึงนัดพบแพทย์ใหม่ ด้วยความงงต่อชื่อของอาการนี้ก็เลยต้องหาข้อมูลมาบอกเล่ากัน

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักต่อมน้ำลาย (Salivary gland) กันก่อนว่า ต่อมน้ำลายเป็นต่อมมีท่อ (Exocrine glands) เมื่อสร้างน้ำลายขึ้นแล้วจะขับเข้าไปในปากทางท่อน้ำลาย น้ำลายที่สร้างขึ้นแบ่งตามลักษณะได้ 2แบบ คือ ชนิดใส (Serous) และชนิดเหนียว (Mucous) ต่อมน้ำลายมีทั้งหมด 3 คู่ ได้แก่

  1. ต่อมน้ำลายหน้ากกหู (Parotid gland) สร้างน้ำลายชนิดใสเพียงอย่างเดียว เมื่อต่อมนี้มีการอักเสบ บริเวณข้างกกหูจะบวมแดงและเจ็บ หรือที่เราเรียกกันว่าโรคคางทูม (Mumps หรือ Parotitis)
  2. ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร (Submandibular gland / submaxillary gland) สร้างน้ำลายทั้งชนิดเหนียวและชนิดใส แต่มีชนิดใสมากกว่าชนิดเหนียว ขับน้ำลายผ่านทาง Wharton’s duct เป็นต่อมที่สร้างน้ำลายได้มากที่สุด
  3. ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual gland) สร้างน้ำลายสองชนิดผสมกัน แต่มีชนิดเหนียวมากกว่าชนิดใส

ต่อมที่สร้างน้ำลายชนิดใสมักสร้างน้ำย่อย (Enzyme) ด้วย ส่วนต่อมที่สร้างน้ำลายชนิดเหนียวมักไม่สร้างน้ำย่อย แต่สร้างเมือก (Mucin) ออกมา ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะ Mucin จะไปเคลือบอาหารทำให้เป็นก้อนลื่นสะดวกแก่การกลืน และเมื่อถูกกลืนลงไปในกระเพาะเมือกนี้จะเคลือบกระเพาะไว้ ทำให้น้ำย่อยไม่สามารถไปย่อยผนังกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดแผลขึ้นหรือที่เรียกว่าโรคกระเพาะ

“ต่อมน้ำลายอุดตัน” หรือ “นิ่วน้ำลาย” (Sialolithiasis / salivary calculi / salivary stones) เป็นภาวะที่เกิดจากการสะสมขององค์ประกอบทางเคมีในน้ำลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแคลเซียม (Calcified mass) เช่น แคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate) และแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) สะสมอยู่ในต่อมน้ำลาย

นิ่วน้ำลาย มักเกิดที่ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร (Submandibular gland) ในอัตราร้อยละ 80-90 ส่วนต่อมน้ำลายหน้ากกหู (Parotid gland) มีโอกาสเกิดน้อยกว่า ในขณะที่ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual gland) นั้นไม่ค่อยเกิด

จากการศึกษาพบว่า มีประชากรประมาณร้อยละ 1.2 ที่มีนิ่วน้ำลาย แต่ที่ทำให้เกิดอาการมีประมาณร้อยละ 0.45 และโอกาสเกิดในเพศชายเป็น 2 เท่าของเพศหญิง โดยมีอายุระหว่าง 30 – 60 ปี แต่ไม่ค่อยพบในเด็ก

อาการจะแตกต่างกันไปขึ้นกับว่าเกิดการอุดตันบางส่วนหรือทั้งหมด และแรงกดดันในต่อมน้ำลาย นอกจากนี้การติดเชื้อในต่อมน้ำลายก็มีผลต่ออาการด้วย อาการที่เกิด ได้แก่

  • ปวดเป็นๆ หายๆ และมักเป็นก่อนการกินอาหาร (กรณีอุดตันบางส่วน)
  • บวมเป็นพักๆ มักเกิดก่อนการกินอาหาร (กรณีอุดตันบางส่วน)
  • กดเจ็บ (Tenderness)
  • เป็นก้อนคลำได้ (Palpable hard lump) หากก้อนนิ่วอยู่ใกล้ปลายท่อ แต่ถ้าก้อนนิ่วอยู่ใกล้ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร ก้อนจะอยู่ใต้ลิ้น
  • น้ำลายแห้ง (กรณีอุดตันทั้งหมด)
  • เป็นผื่นแดงในปาก (Erythema) (กรณีติดเชื้อ)
  • เป็นหนอง (Pus) (กรณีติดเชื้อ)
  • ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ (กรณีติดเชื้อ)

แหล่งข้อมูล

  1. Sialolithiasis. https://en.wikipedia.org/wiki/Sialolithiasis [2015, September 9].
  2. Salivary Duct Stones. http://www.healthline.com/health/salivary-duct-stones#ReadThisNext8 [2015, September 9].
  3. Sialolithiasis. http://radiopaedia.org/articles/sialolithiasis [2015, September 9].