ตื่นตระหนกเกินไปนะ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

มีผลการศึกษาย้อนหลังว่า โรคตื่นตระหนกมักจะเกิดในตอนเริ่มเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งประมาณร้อยละ 50 จะมีอาการก่อนอายุ 24 ปี แต่ก็มีผลการศึกษาบางฉบับที่ระบุว่า อาการครั้งแรกมักจะเริ่มเป็นในอายุระหว่าง 25-30 ปี โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคตื่นตระหนกมากเป็น 2 เท่าของผู้ชาย

ในปี พ.ศ.2543 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้เปิดเผยว่า ทั่วโลกมีอัตราในการเป็นโรคตื่นตระหนกที่คล้ายกัน กล่าวคือ ในจำนวนประชากร 100,000 คน มีผู้ชายที่เป็นโรคนี้ 309 คน ในทวีปแอฟริกา และ 330 คน ในแถบเอเซียตะวันออก ในขณะที่มีผู้หญิงที่เป็นโรคนี้ 613 คน ในทวีปแอฟริกา และ 649 คน ในแถบอเมริกาเหนือ โอเชียเนีย และยุโรป

โรคตื่นตระหนกสามารถคงอยู่ได้เป็นเดือนหรือเป็นปี ขึ้นกับว่าจะรักษาอย่างไรและเมื่อไร การปล่อยให้โรคดำเนินต่อไปโดยปกปิดหรือไม่ทำการรักษาจะทำให้อาการแย่ลง ซึ่งจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ การรักษาโรคตี่นตระหนกทำได้โดยวิธีการบำบัดด้วยการรับรู้และพฤติกรรม (Cognitive behavioural therapy = CBT) และการคิดเชิงบวก (Positive Self Talk) โดยมีผลการวิจัยพบว่าร้อยละ 85-90 ของผู้ป่วยที่ใช้วิธี CBT สามารถหายได้จากโรคตื่นตระหนกภายใน 12 สัปดาห์

การใช้ยาในกลุ่ม SSRI (Selective serotonin reuptake inhibitor) หรือยาต้านอารมณ์เศร้า ก็เป็นอีกทางเลือกของการรักษา

แต่ทั้งนี้เป็นที่รู้กันว่า โรคซืมเศร้าที่เกิดร่วมกัน (Comorbid clinical depression) บุคลิกภาพแปรปรวน (Personality disorders) และการติดแอลกอฮอล์ (Alcohol abuse) ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้การรักษาไม่ประสบผลสำเร็จได้

อย่างไรก็ดี การได้รับการช่วยเหลือจากครอบครัวและเพื่อนฝูงที่เข้าใจ จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคได้มากขึ้น และแม้ว่าโรคนี้ยังไม่มีวิธีการป้องกัน แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือ พยายามลดความเครียดลง เช่น งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หมั่นออกกำลังกาย และกินอาหารที่มีประโยชน์ให้สมส่วน

และเพื่อช่วยคลายความวิตกกังวล เบื้องต้นอาจปฏิบัติดังนี้

  1. หายใจให้ลึกๆ – ขณะที่รู้สึกกังวลหรือรู้สึกตื่นตระหนกให้หายใจเข้าให้ลึกๆ ทางจมูก แล้วอั้นไว้สัก 3 วินาที จึงหายใจออกทางปาก และทำซ้ำจนกว่าความวิตกจะคลายลง หรือถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ก็ให้คิดว่า เดี๋ยวความรู้สึกนี้ก็จะผ่านไป
  2. ไปเดินเล่น – ออกไปเดินเล่นและสนใจสิ่งรอบตัวแทน เช่น รู้สึกถึงแสงแดดที่กระทบใบหน้าว่าเป็นอย่างไร หูได้ยินเสียงอะไรบ้าง อยู่กับปัจจุบัน ให้สนใจในแต่ละก้าวที่เดินเหยียบลงไป จะช่วยคลายจากความคิดที่ทำให้วิตกกังวล
  3. พยายามหัวเราะเข้าไว้ – คิดถึงเรื่องตลกๆ และหัวเราะเข้าไว้

แหล่งข้อมูล

  1. Panic disorder. http://en.wikipedia.org/wiki/Panic_disorder [2014, May 16].
  2. How to Calm Anxiety: The First Steps. http://www.anxietykilledthecat.com/how-to-calm-anxiety-the-first-steps.html [2014, May 16].