ตื่นตระหนกเกินไปนะ (ตอนที่ 1)

อาการตกใจเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าอาการนั้นเกิดขึ้นบ่อยจนผิดปกติ อาจมีความเป็นไปได้ว่า คุณอาจเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคแพนิค

นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ชี้แจงว่า โรคแพนิค ( Panic) หรือที่หลายคนเรียกว่า "โรคตื่นตระหนก" เป็นโรคทางจิตเวชอย่างเดียวที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากสภาวะทางจิตใจของมนุษย์ แต่เป็นเพราะการทำงานที่ผิดปกติของสมองส่วนระบบประสาทอัตโนมัติ

ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อคนเราเจอกับเหตุการณ์ที่ตื่นเต้น ภาพจะถูกส่งไปยังสมองส่วนนี้ เพื่อสั่งงานให้ร่างกายหรืออวัยวะต่างๆ เกิดปฏิกิริยาตอบสนอง แต่ผู้ป่วยโรคแพนิคนั้น สมองจะทำงานเองโดยไม่ต้องมีสิ่งกระตุ้น

นายแพทย์อภิชาติ อธิบายว่า อาการของโรคแพนิคจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งลักษณะอาการจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล เริ่มตั้งแต่มือ-เท้าสั่น ใจสั่น รู้สึกชา บางรายรู้สึกกังวลว่าตัวเองจะกลายจะเป็นบ้า โดยอาการจะแสดงถึงจุดสุดยอดประมาณ 10-15 นาที แล้วค่อยๆ หายไปภายในเวลา 1 ชั่วโมง

แม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้ บางคนอาจกลัวที่จะทำงานหรือไปในสถานที่ที่เคยแสดงอาการ หรือแม้แต่นำไปสู่การคิดสั้นฆ่าตัวตาย เพราะกลัวว่าจะเป็นซ้ำอีก

นายแพทย์อภิชาติ กล่าวว่า เบื้องต้นทางการแพทย์คาดว่าโรคแพนิคเป็นโรคทางพันธุกรรม แต่ก็พบว่ามีตัวกระตุ้นอาการจากการใช้ยาบางประเภท เช่น ยาแผนโบราณ และยาสมุนไพรบางชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน อย่างพวกชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงสารเสพติดก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้

ดังนั้นจิตแพทย์จึงแนะนำผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองป่วยโรคแพนิค ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับยามารับประทาน ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการที่กล่าวไว้ข้างต้นเป็นดีที่สุด

นายแพทย์อภิชาติ กล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตาม แม้โรคแพนิคจะเป็นโรคที่เกิดจากระบบประสาท แต่หากเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์เพื่อควบคุมอาการและรับประทานยาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ก็สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้

โรคตื่นตระหนก (Panic disorder) เป็นอาการที่เกิดการตื่นตระหนกอย่างรุนแรง ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้าได้ คนที่เป็นจะรู้สึกเก็บกด กระวนกระวาย และกังวลถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น

อาการตื่นตระหนกจะเกิดอยู่นานประมาณ 10 นาที หรือสั้นแค่ 1-5 นาที แต่ก็มีบางกรณีที่นานถึง 20 นาที หรือมากกว่าชั่วโมง หรือจนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ ระดับความตื่นกลัวจะแตกต่างกันไป บางกรณีก็คงอยู่ในระดับสูง หรือบางกรณีก็เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

แหล่งข้อมูล

  1. แพนิค โรคตื่นตระหนก ควบคุมไม่ได้ ! http://www.dailynews.co.th/Content/Article/226826/แพนิค+โรคตื่นตระหนก+ควบคุมไม่ได้! [2014, May 14].
  2. Panic disorder. http://en.wikipedia.org/wiki/Panic_disorder [2014, May 14].