ติ่งเนื้อถุงน้ำดี (Gallbladder polyp)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ติ่งเนื้อถุงน้ำดี หรือ โพลิปถุงน้ำดี (Gallbladder polyp)เป็นรอยโรคที่เกิดในเนื้อเยื่อบุด้านในผนังถุงน้ำดี โดยมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อหรือก้อนที่ยื่นจากผนังด้านในของถุงน้ำดีเข้ามาในโพรงถุงน้ำดี ทั้งนี้อาจเป็นติ่งเนื้อที่มีก้านหรือไม่มีก้านก็ได้

ติ่งเนื้อถุงน้ำดี(ติ่งเนื้อฯ)เป็นโรคที่พบบ่อยทั่วโลก พบได้ประมาณ 5-7%ของประชากรทั้งหมด พบได้สูงขึ้นในคนเชื้อชาติจีน พบได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย แต่พบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงเล็กน้อยประมาณ 1.2 เท่า โดยมักพบในผู้ใหญ่วัยกลางคน เฉลี่ยอายุประมาณ 45-50 ปี

ติ่งเนื้อถุงน้ำดีมีกี่ชนิด?

ติ่งเนื้อถุงน้ำดี

ติ่งเนื้อถุงน้ำดี พบได้ประมาณ 5 ชนิด ได้แก่

ก. Chlolesterol polyp: คือติ่งเนื้อที่ส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นไขมันคอเลสเตอรอล และไขมัน Triglyceride ที่สร้างจากเนื้อเยื่อบุผนังด้านในของถุงน้ำดี ติ่งเนื้อชนิดนี้เป็นติ่งเนื้อที่พบได้มากที่สุดของติ่งเนื้อถุงน้ำดีทั้งหมด คือ ประมาณ 60-90 % โดยมักเป็นติ่งเนื้อที่มีขนาดเล็ก ขนาดไม่เกิน 1 ซม.(เซนติเมตร) มักพบพร้อมกันหลายติ่งเนื้อ/ติ่งฯ อาจเป็นติ่งเนื้อที่มีก้านหรือไม่มีก้านก็ได้ ซึ่งติ่งเนื้อชนิดนี้ไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็งถุงน้ำดี

ข. Inflammatory polyp: เป็นติ่งเนื้อที่เกิดจากถุงน้ำดีอักเสบ เนื้อเยื่อของติ่งเนื้อชนิดนี้จึงประกอบด้วยเซลล์อักเสบชนิดต่างๆร่วมกับเนื้อเยื่อที่ตอบสนองต่อการอักเสบ(Granulation tissue) โดยมักพบเป็นติ่งเนื้อเดียว ขนาดประมาณ 0.5-1 ซม. พบติ่งเนื้อชนิดนี้ได้ประมาณ 10% และเป็นชนิดที่ไม่เปลี่ยนไปเป็นมะเร็งเช่นกัน

ค. Adenomyomatosis polyp หรือ Adenomyoma polyp: เป็นติ่งเนื้อที่เกิดจากมีการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อในเนื้อเยื่อผนังถุงน้ำดี พบได้ประมาณ 25% มักพบเกิดเพียงติ่งเนื้อเดียว มักเกิดที่ส่วนฐาน/ส่วนที่อยู่ตรงข้ามกับรูเปิด(Fundus)ของถุงน้ำดี ขนาดประมาณ 1-2 ซม. และมีรายงานว่า ประมาณ 5-6%ของติ่งเนื้อชนิดนี้ สามารถเปลี่ยนเป็นมะเร็งถุงน้ำดีได้

ง. Adenoma polyp: ติ่งเนื้อชนิดนี้พบได้น้อยมาก ประมาณ 0.15% ของติ่งเนื้อถุงน้ำดีทั้งหมด โดยจัดเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่ง และเป็นเนื้องอกที่จะกลายไปเป็นมะเร็งถุงน้ำดีได้ โดยเฉพาะเมื่อมีขนาดโตตั้งแต่ 1.8 ซม.ขึ้นไป

จ. Miscellaneous/ติ่งเนื้อชนิดอื่นๆที่พบได้น้อยมากๆ: พบได้รวมกันประมาณ 4-5%ของติ่งเนื้อฯทั้งหมด มีขนาดได้ตั้งแต่ 0.5 ซมไปจนถึง 2 ซม. ทั่วไปมักจัดเป็นเนื้องอกชนิดทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็ง

อนึ่ง ติ่งเนื้อถุงน้ำดีทั้งหมด ประมาณ 95% เป็นติ่งเนื้อที่ไม่ใช่ หรือไม่กลายเป็นมะเร็ง มีเพียงประมาณ 5% เท่านั้นที่เป็นมะเร็งถุงน้ำดี หรือที่อาจกลายพันธ์เป็นมะเร็งถุงน้ำดีได้

อะไรเป็นสาเหตุปัจจัยเสี่ยงเกิดติ่งเนื้อถุงน้ำดี?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดติ่งเนื้อถุงน้ำดี แต่แพทย์เชื่อว่า ปัจจัยเสี่ยงน่ามาจาก

  • เชื้อชาติ เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นในบางเชื้อชาติ เช่น จีน โดยพบโรคนี้ได้ประมาณ 9-10%ในคนเชื้อชาติจีน
  • การมีระดับไขมันในเลือดสูง เพราะพบติ่งเนื้อฯเป็นชนิด Chloesterol Polypได้สูง

ติ่งเนื้อถุงน้ำดีมีอาการอย่างไร?

โดยทั่วไป ติ่งเนื้อถุงน้ำดีไม่ก่ออาการ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ ของภาพตับหรือภาพช่องท้องเพื่อการวินิจฉัยโรคต่างๆของตับหรือโรคในช่องท้อง เช่น การตรวจสุขภาพทั่วไป การตรวจภาพตับในผู้ป่วยโรคมะเร็ง การตรวจภาพถุงน้ำดีเมื่อแพทย์สงสัยปวดท้องจากนิ่วในถุงน้ำดี

แต่ในผู้ป่วยติ่งเนื้อถุงน้ำดีบางราย อาจมีอาการได้ โดยอาการที่พบ จะเป็นอาการไม่เฉพาะเจาะจง แต่เป็นอาการทั่วไปของโรคทั่วไปในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง บางคนส่วนน้อย อาจพบอาการปวดท้องด้านขวาตอนบนได้ ซึ่งมักพบร่วมกับการมีนิ่วในถุงน้ำดี หรือจากการที่ก้อนไขมันหลุดจากติ่งเนื้อฯเข้าไปอุดตันที่ท่อน้ำดีของถุงน้ำดี(Cystic duct) โดยอาการปวดท้องจากสาเหตุนี้จะไม่รุนแรงเหมือนอาการจากนิ่วในถุงน้ำดี (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง อาการนิ่วในถุงน้ำดีได้จาก เว็บ haamor.com บทความเรื่อง นิ่วในถุงน้ำดี)

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” และอาการรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือเมื่อกังวลในอาการ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ตรวจหาสาเหตุ

แพทย์วินิจฉัยติ่งเนื้อถุงน้ำดีได้อย่างไร?

ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ “อาการฯ”ว่า โรคติ่งเนื้อถุงน้ำดี เป็นโรคไม่ก่ออาการ ดังนั้น โดยทั่วไปแพทย์จึงมักวินิจฉัยโรคนี้ได้จาก การตรวจอัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ ภาพตับ หรือภาพช่องท้องจากการที่แพทย์วินิจฉัยโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบจากสาเหตุต่างๆ หรือในการตรวจสุขภาพประจำปี

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของติ่งเนื้อถุงน้ำดีมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงที่แพทย์ใช้ช่วยวินิจฉัยว่า ติ่งเนื้อถุงน้ำดีอาจเป็นมะเร็งได้ซึ่งกรณีนี้ มีความจำเป็นที่แพทย์ต้องให้การรักษาโดยการผ่าตัดถุงน้ำดี

ปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นแพทย์ต้องประเมินร่วมกันหลายๆปัจจัย ซึ่งที่สำคัญ คือ ติ่งเนื้อฯมีขนาดโตมากกว่า 1 ซม. แพทย์บางท่าน พิจารณาที่ขนาดตั้งแต่ 0.6 ซม.ขึ้นไป นอกจากนั้น แพทย์จะนำมาประกอบร่วมด้วยกับปัจจัยอื่นๆ ได้แก่

  • ผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป
  • ติ่งเนื้อฯมีเพียงติ่งเนื้อเดียว
  • ติ่งเนื้อเป็นชนิดมีก้าน
  • ผู้ป่วยมีนิ่วในถุงน้ำดีร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยมีประวัติมีการอักเสบของท่อน้ำดีชนิดที่ก่อให้เกิดพังผืดอุดตันในท่อน้ำดี ที่เรียกว่า Primary sclerosing Cholangitis มาก่อน

รักษาติ่งเนื้อถุงน้ำดีอย่างไร?

การรักษาติ่งเนื้อถุงน้ำดีที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งถุงน้ำดี คือ การเฝ้าติดตามโรคด้วยการตรวจภาพถุงน้ำดีซ้ำต่อเนื่อง ทุก 3-6 เดือนด้วยอัลตราซาวด์ เป็นระยะเวลานานประมาณ 2-3 ปี ถ้าติ่งเนื้อฯไม่โตขึ้น และ/หรือมีรูปร่างคงเดิม และ/หรือผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติ แพทย์จะวินิจฉัยว่า ติ่งเนื้อฯจะไม่มีการกลายเป็นมะเร็ง และไม่จำเป็นที่ต้องตรวจติดตามโรคต่อไป

แต่ถ้าติ่งเนื้อมีปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งฯได้ และ/หรือกรณีติดตามติ่งเนื้อฯด้วยอัลตราซาวด์แล้วพบว่า ติ่งเนื้อฯโตขึ้น แพทย์จะแนะนำการรักษาโดยการผ่าตัดถุงน้ำดี

ติ่งเนื้อถุงน้ำดีมีผลข้างเคียงอย่างไร?

โดยทั่วไป ติ่งเนื้อถุงน้ำดี ไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติ หรือก่อผลข้างเคียงใดๆ

ติ่งเนื้อถุงน้ำดีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไป ประมาณ 95%ของติ่งเนื้อถุงน้ำดี มีการพยากรณ์โรคที่ดี ไม่ก่ออาการ ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา โดยมีเพียงประมาณ 5%ที่มีปัจจัยเสี่ยงเปลี่ยนเป็นมะเร็งถุงน้ำดีได้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดถุงน้ำดี (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการพยากรณ์โรคในมะเร็งถุงน้ำดีได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งถุงน้ำดี)

ดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อทราบว่ามีติ่งเนื้อถุงน้ำดี การดูแลตนเอง คือ การใช้ชีวิตตามปกติ และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อมีติ่งเนื้อถุงน้ำดี ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการปวดท้องมากในช่องท้องส่วนด้านขวาตอนบน(ช่องท้องด้านขวา ส่วนอยู่เหนือระดับสะดือ) หรือปวดท้องฯบ่อยขึ้นผิดปกติ
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือ ท้องอืด ท้องเฟ้อ มากขึ้น บ่อยขึ้น จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันติ่งเนื้อถุงน้ำดีได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันติ่งเนื้อถุงน้ำดี เพราะแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ และยังไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้

บรรณานุกรม

  1. Andren-Sandberg. N Am J Med 2012;4(5): 203-211
  2. Corwin, M. et al. Radiology. 2011;258(1):277-282
  3. De Matos, A. et al. Rev Assoc Med Bras 2010; 56(3):318-321
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Gallbladder_polyp[2017,June3]
  5. http://emedicine.medscape.com/article/190364-overview#a7[2017,June3]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17886428[2017,June3]