ติดโซเชียลถือเป็นโรคจิตนะ (ตอนที่ 2)

ติดโซเชียลถือเป็นโรคจิตนะ-2

      

      ซึ่งผลการประชุมก็ได้มีการเสนอให้เพิ่มหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน ให้เด็กรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันในการใช้งานอินเตอร์เน็ต เพื่อให้เด็กรู้เท่าทันและตระหนักถึงผลเสียจากการใช้โซเชียลที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งเรียนรู้วิธีการใช้อย่างเหมาะสม และจะต้องเพิ่มการให้คำแนะนำพ่อแม่ที่ศูนย์คลินิกเด็กดี ศูนย์เด็กเล็ก และรร.อนุบาล ให้เข้าใจผลเสีย และไม่ควรให้ลูกได้อุปกรณ์จอใสก่อนอายุ 5 ขวบ

      ด้าน นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต แนะนำการควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตใน ครอบครัว ว่าให้ใช้หลัก “3 ต้อง 3 ไม่” คือ ต้องกำหนดเวลา ต้องกำหนดรายการ ต้องเล่นกับลูก และไม่ใช้อินเตอร์เน็ตในห้องนอนในเวลาที่เป็นเวลาของครอบครัว และพ่อแม่ผู้ปกครองต้องไม่เป็นแบบอย่างที่ผิด

      พร้อมแนะนำข้อควรปฏิบัติในการใช้อินเตอร์เน็ต คือ Do รู้เป้าหมาย ควบคุมเวลา ใช้วิจารณญาณกับเนื้อหา และใช้เพื่อทำสิ่งดีๆ ให้กับชีวิต และ Don’t คือ อย่าทำด้วยความรู้สึก เช่น เล่นอินเตอร์เน็ตเพราะรู้สึกเบื่อ เหงา ตื่นเต้น เล่นไป เรื่อยๆ งมงาย รุนแรง ลามก จมปลัก แต่ควรใช้อินเตอร์เน็ต ด้วยเหตุผล เช่น เพื่อ ค้นหาความรู้ เพื่อผ่อนคลายความเครียด

      ภาวะการติดอินเทอร์เน็ต (Internet addiction / Internet addiction disorder (IAD) / Computer addiction / Compulsive Internet use / Problematic Internet Use (PIU) / Internet dependence / Pathological Internet use) เป็นความผิดปกติในการควบคุมแรงกระตุ้น (Impulse control disorder) ที่อยู่ในกลุ่มโรคขาดความยับยั้งชั่งใจ

      มีงานวิจัยประเมินว่า มีประชากรร้อยละ 6 ที่มีภาวะการติดอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะประชากรชาวอเมริกันและยุโรปที่มีถึงร้อยละ 8.2 หรือร้อยละ 38 ทั้งนี้ขึ้นกับบรรทัดฐานที่ใช้ในการวัดของแต่ละงานวิจัย

      ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอาจจะได้พบเพื่อนหรือทำกิจกรรมออนไลน์หน้าจอ พอใจที่จะพบปะสังคม หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในห้องสนทนา (Virtual communities) ในขณะที่บางคนใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อความหรือเขียนบล็อก (Blogging)

      เช่นเดียวกับการติดสิ่งเสพติดอื่นๆ ผู้ที่ติดอินเทอร์เน็ตจะมีโลกแห่งความเพ้อฝัน (Fantasy world) ที่จะพบผู้คนผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจจะไม่สามารถพบหาได้ในสถานการณ์ปกติ

      เป็นไปได้ยากที่ปัจจุบันเราจะไม่ใช้อินเทอร์เน็ต เพราะเราสามารถหาทุกอย่างได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ความเสี่ยงอยู่ที่เราจะใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดภาวะการติดอินเทอร์เน็ตจนทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเสียไป เช่น ความบกพร่องทางร่างกาย (Physical impairments) ความบกพร่องทางร่างกายทางสังคมและหน้าที่ (Social and functional impairments) ความบกพร่องทางอารมณ์ (Emotional impairments) เป็นต้น

      ประเภทของการติดอินเทอร์เน็ตแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่

  • เรื่องเซ็กส์ (Cybersexual) – บางคนใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดาวน์โหลดรูปภาพโป๊ เพื่อตอบสนองต่อความไม่สมหวังในเรื่องเซ็กส์จากคู่ครองหรือคู่เพศสัมพันธ์ที่ประสบอยู่ในโลกของความจริง
  • การจำต้องทำ (Net compulsions) – เช่น ช้อปปิ้ง ขายของ เล่นการพนัน หรือเล่นหุ้น
  • สร้างความสัมพันธ์ (Cyber-relationships) – บางคนใช้ห้องสนทนา (Chat rooms) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ หรือหาคู่ (Online dating) จนเกิดการนอกใจทางโลกไซเบอร์ (Cyberadultery)
  • เล่นเกมส์ (Gaming) – บางคนใช้เวลาเป็นจำนวนมากในการเล่นเกมส์
  • หาข้อมูล (Information Seeking) – บางคนหมกหมุ่นในการค้นหาและเก็บข้อมูล

      

แหล่งข้อมูล:

  1. กรมสุขภาพจิต เบรคกระแสติดโซเชียล แนะเพิ่มการศึกษาพื้นฐาน ให้เด็กรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันการใช้ อินเตอร์เน็ต.http://www.prdmh.com/ข่าวสาร/ข่าวแจกกรมสุขภาพจิต/1190-กรมสุขภาพจิต-เบรคกระแสติดโซเชียล-แนะเพิ่มการศึกษาพื้นฐาน-ให้เด็กรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันการใช้-อินเตอร์เน็ต.html [2018, September 3].
  2. What is Internet addiction? http://www.addictionrecov.org/Addictions/index.aspx?AID=43 [2018, September 3].
  3. Internet addiction. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/internet-addiction [2018, September 3].
  4. .
  5. Internet Addiction Disorder. https://www.psycom.net/iadcriteria.html [2018, September 3].
  6. Risky Business: Internet Addiction. http://www.mentalhealthamerica.net/conditions/risky-business-internet-addiction [2018, September 3].