ติดโซเชียลถือเป็นโรคจิตนะ (ตอนที่ 1)

ติดโซเชียลถือเป็นโรคจิตนะ-1

      

      กรมสุขภาพจิต ชี้ผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากการติดโซเชียลมากที่สุด คือ เกิดภาวะซึมเศร้า รองลงมาปัญหาวิตกกังวล และภาวะอารมณ์แปรปรวน รวมทั้งส่งผลเสียทั้งต่อตัวเองและต่อสังคมที่รุนแรงในแต่ละช่วงวัย

      ปัจจุบันมีการบรรจุการติดโซเชียลเป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและบำบัด เร่งหาแนวทางป้องกันที่ต้นเหตุ โดยเสนอให้เพิ่มการศึกษาพื้นฐาน ให้เด็กรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันในการใช้การใช้งานอินเตอร์เน็ต

      นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานเฟสบุคเกือบ 600 ล้านคนทั่วโลก และมีราวๆ 10 ล้านคนในไทย สถิตการใช้ทุกๆ 20 นาที มีการอัพโหลดรูปถ่ายมากกว่า 3.7 ล้านรูป แชร์ ลิงก์ และอัฟเดทสเตตัส มากว่าล้านข้อความ

      โดยเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้คนทั่วโลกมีแนวโน้มจะติดโลกโซเชียลมากขึ้น คือ การไม่อยากอยู่อย่างโดดเดี่ยวต้องการการมีตัวตนมากกว่าที่เป็นอยู่ มากกว่าที่คิด มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องคนอื่น พอๆ กับต้องการให้คนอื่นรู้เรื่องของตน และการโหยหาแรงสนับสนุนและการยอมรับจากสังคม

      ทั้งนี้มีรายงานการศึกษาผลกระทบจาการติดโซเชียล พบว่า ทำเกิดความชุกที่จะเสพติดอาหารและช้อปปิ้งร้อยละ 29.5 ทำให้มีปัญหาภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 27.7 และทำให้เกิดอาการวิตกกังวลและภาวะอารมณ์แปรปรวน ร้อยละ 21.1

      นอกจากนี้ ยังพบว่าการติดโซเชียลก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อตัวเองและต่อสังคมที่รุนแรงในแต่ละช่วงวัย เช่น

- ในกลุ่มวัยก่อนเรียน พบปัญหาสมาธิสั้น สูญเสียทักษะสังคม และการเสียการเรียนรู้จากประสบการณ์ และการลงมือทำ

- กลุ่มวัยเรียนก่อให้เกิดปัญหาด้านความรุนแรง อ้วน สายตาเสีย เสียวินัย และผลการเรียนลดลง

- กลุ่มวัยรุ่น ทำให้เกิดค่านิยมการบริโภคติดอินเตอร์เน็ต การรังแกกันทางโซเชียล การล่อลวง ค่านิยมและพฤติกรรมทางเพศผิดปกติ เป็นต้น

      สำหรับการป้องกันแก้ไขปัญหา ปัจจุบันได้มีการบรรจุการติดโซเชียล เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและบำบัด โดยแบ่งประเภทของการติดโซเชียลมีเดีย เป็น 3 แบบ คือ

- ติดสาระ เช่น ติดเกม ติดพนัน

- ติดสัมพันธ์ เช่น ติดเฟสบุ๊ค

- ติดอุปกรณ์ เช่น ติดรุ่นของสมาร์ทโฟน

      นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวว่า หากสงสัยว่าติดโซเชียลให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสายด่วนสุขภาพจิต 1323 อย่างไรก็ตามแนวทางที่ผ่านเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นจึงได้มีการระดมนักวิชาการเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้นในเวทีการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติที่ผ่านมา

      

แหล่งข้อมูล:

  1. กรมสุขภาพจิต เบรคกระแสติดโซเชียล แนะเพิ่มการศึกษาพื้นฐาน ให้เด็กรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันการใช้ อินเตอร์เน็ต.http://www.prdmh.com/ข่าวสาร/ข่าวแจกกรมสุขภาพจิต/1190-กรมสุขภาพจิต-เบรคกระแสติดโซเชียล-แนะเพิ่มการศึกษาพื้นฐาน-ให้เด็กรุ่นใหม่มีภูมิคุ้มกันการใช้-อินเตอร์เน็ต.html [2018, September 1].