ติดเชื้อแค่ในช่องปาก แต่แพร่โรคร้ายได้ทั่วตัว (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ติดเชื้อแค่ในช่องปาก

1. โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases)

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hypercholesterolemia) การสูบบุหรี่ อย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียง ½ - 2/3 ของปัจจัยในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่านั้น

เพราะปัจจัยอื่นที่เป็นไปได้ก็คือ การติดเชื้อเรื้อรังและการอักเสบสะสม รวมถึงโรคปริทันต์ (Periodontal disease) โดยมีการหลักฐานอ้างอิงว่า โรคปริทันต์ที่มีแบคทีเรียอย่าง Streptococcus sanguis และ Porphyromonas gingivalis อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดลิ่มเลือด (Thrombus) ซึ่งสามารถทำให้เกิด

  • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง หรือโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
  • กล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction)
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • เยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อ (infective endocarditis)

2. โรคปอดบวมหรือโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ (Pneumonia)

เชื้อจุลินทรีย์สามารถทำให้ทางเดินหายใจส่วนล่างติดเชื้อได้หากอวัยวะส่วนนั้นไม่สามารถกำจัดเชื้อ เชื้อจะแพร่ขยายและทำลายเนื้อเยื่อของปอด

3. โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)

โรคปริทันต์อักเสบและโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน กล่าวคือ คนที่เป็นโรคเบาหวานมักเกิดโรคปริทันต์อักเสบได้มากกว่าคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน และในขณะเดียวกันคนที่เป็นโรคเบาหวานและมีโรคในช่องปากร่วมด้วยจะทำให้การควบคุมเบาหวานทำได้ไม่ดี แต่ถ้าสามารถลดการอักเสบของช่องปากได้ก็จะทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดดีขึ้นด้วย

4. ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย (Low Birth Weight)

โดยทั่วไปปัจจัยเสี่ยงที่ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย (น้อยกว่า 2,500 กรัม) คือ แม่ตั้งครรภ์ขณะที่มีอายุมากกว่า 34 ปี และน้อยกว่า 17 ปี แม่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Genitourinary tract infection) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หญิงมีครรภ์อาจมีปัญหาสุขภาพเหงือก อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถทำให้เหงือกอักเสบ (Gingivitis) เกิดการติดเชื้อในช่องปาก และอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่รก (Placental membranes) ได้ โดยกรณีนี้ยังคงทำการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป

สำหรับการป้องกันการติดเชื้อในช่องปากสามารถทำได้โดย

  • ไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ (ทุก 6 – 12 เดือน) เพื่อทำการตรวจดูความเรียบร้อยของฟันและช่องปาก
  • แปรงฟัน (รวมถึงเหงือกและลิ้น) วันละ 2 ครั้ง
  • ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน
  • ไม่สูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และจำกัดการรับประทานขนมขบเคี้ยวระหว่างมื้ออาหาร
  • ใส่หมวกหรือที่ครอบฟัน กรณีที่เล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล ฮ็อกกี้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับฟัน

แหล่งข้อมูล

1. Systemic Diseases Caused by Oral Infection. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC88948/ [2016, September 13].

2. Oral Infections. http://www.humanillnesses.com/Infectious-Diseases-My-Si/Oral-Infections.html [2016, September 13].