ติดเชื้อแค่ในช่องปาก แต่แพร่โรคร้ายได้ทั่วตัว (ตอนที่ 1)

ติดเชื้อแค่ในช่องปาก

ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การติดเชื้อในช่องปากจะนำไปสู่การติดเชื้อที่อวัยวะสำคัญของร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเชื้อจะเดินทางผ่านกระแสเลือด ท่อน้ำเหลือง ระบบทางเดินหายใจ เมื่อแพร่กระจายไปสู่ลำคอ หลอดลม และ ปอด อาจทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบได้ และเมื่อเชื้อโรคบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อ Helicobacter Pylori ถูกกลืนเข้าสู่ทางเดินอาหาร อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้

ทั้งนี้ เชื้อโรคจากช่องปากยังสามารถแพร่กระจายไปสู่รูหู ผ่านทางท่อที่มีติดต่อกันอยู่แล้วตามธรรมชาติ และนำไปสู่การอักเสบของหูได้ ประชาชนจึงควรดูแลสุขภาพในช่องปากและป้องกันปัจจัยเสี่ยงร่วม ด้วยมาตรการ 3 อ. 2 ส. 1 ฟ.

โดย 3 อ. คือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการทำอารมณ์ให้แจ่มใส 2 ส. คือ การไม่ดื่มสุรา และ ไม่สูบบุหรี่ และ 1 ฟ. คือ ตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละครั้ง ร่วมกับการดูแลอนามัยช่องปากอย่างเหมาะสมด้วยสูตร 2 : 2 : 2 ได้แก่ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 2 นาที และงดรับประทานอาหารหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง และใช้ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

ทพ.สุธา กล่าวว่า โรคต่าง ๆ ในช่องปาก อาทิ โรคฟันผุ หากปล่อยให้การผุลุกลามจนถึงโพรงประสาทฟัน จะทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่กระจายออกจากฟันไปสู่เนื้อเยื่ออื่น ๆ บางครั้งการติดเชื้อจะมีการลุกลามไปยังบริเวณที่สำคัญ เช่น ใต้คาง ใต้ตา อาการปวดและบวมจะรุนแรงขึ้น

สำหรับผู้ที่เป็นโรคปริทันต์และมีอาการบวมเข้าไปในช่องว่างระหว่างกล้ามเนื้อบางตำแหน่งจะกดหลอดลม เป็นเหตุให้หายใจไม่ออก เชื้อโรคจากการอักเสบเป็นหนองของรากฟันกรามบน จะแพร่กระจายเข้าไปในโพรงอากาศหรือไซนัสได้ด้วย เพราะรากฟันกรามบนติดชิดอยู่กับไซนัส ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของไซนัสตามมาจนสามารถกลายเป็นโรคเรื้อรังได้อีกโรคหนึ่ง

และถ้าหากเชื้อนั้นมีความรุนแรงมาก ทำให้เกิดอาการอย่างเฉียบพลัน อาจมีอันตรายรวดเร็วถึงชีวิต เช่น ในรายที่โลหิตเป็นพิษ หรือหากเชื้อมีความรุนแรงน้อย การแพร่กระจายของเชื้อจะทำลายสุขภาพอย่างช้าๆ เมื่อถึงระยะที่ร่างกายอ่อนแอมีความต้านทานโรคต่ำอาการของโรคจึงจะปรากฏให้เห็น

สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานและมีโรคในช่องปากร่วมด้วยจะทำให้ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี แต่ถ้าสามารถลดการอักเสบของช่องปากได้ก็จะทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดดีขึ้นด้วย

ทพ.สุธา ให้คำแนะนำว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวและกินยาเพื่อรักษาโรคเป็นประจำ เมื่อมารับบริการทางทันตกรรม ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาทราบเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย เช่น ในรายที่กินยาสลายลิ่มเลือด โดยเฉพาะที่ได้รับยาแอสไพริน อาจทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้า เกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดจากการขูดหินปูน ผู้ที่เป็นโรคไตหรือมีประวัติเคยล้างไต เพราะผู้ป่วยเหล่านี้อาจะเคยได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด คนที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคลมชัก ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน

แหล่งข้อมูล

1. “ติดเชื้อช่องปาก” อันตรายกว่าที่คิด เสี่ยงลุกลามลำคอ หลอดลม ปอด!!!. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000042389 [2016, September 11].

2. Systemic Diseases Caused by Oral Infection. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC88948/ [2016, September 11].

3. Oral Infections. http://www.humanillnesses.com/Infectious-Diseases-My-Si/Oral-Infections.html [2016, September 11].