ตาเจ้ากรรมดันขี้เกียจ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ตาเจ้ากรรมดันขี้เกียจ

การวิเคราะห์โรคทำได้ไม่ง่าย โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่รู้ถึงภาวะของความผิดปกตินั้น การตรวจสุขภาพตา ด้วยการตรวจความแตกต่างของการมองเห็นในตาแต่ละข้าง โดยทั่วไปจะมีการหยอดยาเพื่อขยาย ซึ่งอาจมีผลทำให้มองเห็นไม่ชัดไปอีกหลายชั่วโมง ส่วนวิธีการตรวจนั้นจะขึ้นกับอายุของเด็ก เช่น

  • เด็กทียังพูดไม่ได้ จะให้เด็กมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหว
  • เด็กอายุ 3 ปี ขึ้นไป จะใช้ภาพหรือตัวอักษรเพื่อประเมินการมองเห็นของเด็ก โดยใช้แผ่นแปะตาเพื่อทดสอบการมองเห็นทีละข้าง

การรักษาที่รวดเร็วตั้งแต่เด็กอายุก่อน 7 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการพัฒนาด้านสมองและสายตา เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาโรคตาขี้เกียจ โดยการรักษาขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เป็น เช่น

  • ใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ที่เป็นเหตุให้เกิดโรคตาขี้เกียจ
  • ใช้แผ่นปะตา (Eye patches) ข้างที่ดี เพื่อกระตุ้นการมองเห็นของตาข้างที่อ่อนแอกว่า ซึ่งโดยทั่วไปจะแปะตาวันละ 2-6 ชั่วโมง
  • ติดแผ่นกรอง (Bangerter filter) บนแว่นข้างที่ตาดี โดยใช้หลักการเดียวกับแผ่นแปะตา กล่าวคือ แผ่นกรองจะทำให้ตาข้างที่ดีมองเห็นภาพไม่ชัด ช่วยกระตุ้นการทำงานของตาข้างที่มีปัญหา
  • ใช้ยาหยอดตาที่เรียกว่า Atropine ที่ทำให้ตาข้างที่ดีมองเห็นภาพไม่ชัดชั่วคราว แล้วไปกระตุ้นการทำงานของตาข้างที่มีปัญหา อย่างไรก็ดี วิธีนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ การแพ้แสง (Sensitivity to light)
  • การผ่าตัด ในกรณีที่ตาเหล่ ตาเข เป็นต้อกระจก

การรักษาอาจใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือน – 2 ปี โดยต้องคอยเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำ (Recurrence) ด้วย ซึ่งมีโอกาสเกิดถึงร้อยละ 25 ทำให้จำเป็นต้องเริ่มทำการรักษาใหม่

ทั้งนี้ นพ.สุพรรณ ได้อธิบายถึง การป้องกันภาวะตาขี้เกียจของเด็ก ว่า

  1. เด็กควรได้รับการสังเกตดวงตาตั้งแต่แรกคลอด โดยดูลักษณะขนาดของดวงตาทั่วๆ ไปว่าปกติหรือไม่ มีอะไรที่มาปิดตาดำของเด็กหรือไม่
  2. เมื่อเด็กมีอายุ 2-3 เดือน ผู้ปกครองต้องสังเกตว่าเด็กจ้องมองเวลาให้นมได้หรือไม่ เมื่อเด็กยังทำไม่ได้ควรต้องปรึกษาแพทย์
  3. เมื่อเด็กอายุ 6 เดือน ควรจ้องมองตามวัตถุได้ โดยตาของเด็กปกติจะจ้องมองนิ่งๆ จับวัตถุได้
  4. เมื่ออายุ 3 ปี เด็กจะมีสายตาใกล้เคียงกับผู้ใหญ่พอให้ความร่วมมือในการวัดสายตาโดยใช้แผ่น ภาพ เป็นรูปภาพหรือรูปสัตว์ที่เด็กคุ้นเคยขนาดต่างๆกัน ซึ่งสามารถวัดระดับการมองเห็นของเด็กได้ รวมถึงการตรวจดูว่าตาเหล่หรือไม่ จึงควรนำเด็กมาพบจักษุแพทย์เสมอ
  5. แหล่งข้อมูล

    1. โรคตาขี้เกียจทำเด็กตามัวถาวร แนะตรวจสายตาตั้งแต่แรกคลอด. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9590000001692&Keyword=%e2%c3%a4 [2016, July 22].

    2. Lazy eye (amblyopia). http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lazy-eye/home/ovc-20201878 [2016, July 22].

    3. Amblyopia: What Is Lazy Eye? http://www.aao.org/eye-health/diseases/amblyopia-lazy-eye [2016, July 22].