ตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ เจาะเลือดหาสาเหตุ

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สนองพระกระแสรับสั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามกุฎราชกุมารี ที่ทรงห่วงใย ผลกระทบสุขภาพจากปัญหาเชื้อราหลังน้ำท่วมบ้าน โดยให้สถาบันโรคผิวหนังเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ในเบื้องต้น สธ. พบเป็นเชื้อราชนิดที่ไม่ก่อโรค โดยจะเฝ้าระวังต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย พร้อมกับแนะประชาชนให้ยึดหลักความปลอดภัย ขณะที่ล้างทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด

ตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory specimen) เป็นตัวอย่างทางการแพทย์ที่ (Medical sampling) รวบรวมจากผู้ป่วย ในรูปแบบของเนื้อเยื่อ (Tissue) สารเหลว (Fluids) หรือวัสดุ (Materials) อื่นๆ เพื่อการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ในการวินิจฉัยทางการแพทย์ (Medical diagnosis) เรื่องโรคต่างๆ หรือแต่ละขั้นตอนในกระบวนการของเชื้อโรค ตัวอย่างทั่วไปได้แก่ เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ เสลด/เสมหะ และน้ำลาย

การวินิจฉัยทางการแพทย์ หมายถึงกระบวนการของความพยายามในการกำหนดหรือค้นหาโรคหรือความผิดปรกติ และความคิดเห็นที่สรุปได้จากกระบวนการนี้ จากมุมมองของสถิติ การวินิจฉัยเกี่ยวข้องกับการทดสอบแยกประเภท (Classification tests) ของอาการผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของขั้นตอนปฏิบัติ สำหรับการตัดสินใจทางการแพทย์ ในเรื่องการบำบัดรักษาและการพยากรณ์โรคในอนาคต

ขั้นตอนการวินิจฉัย และสรุปความคิดเห็น อาจไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับคำอธิบายสาเหตุของโรคหรืออาการ อย่างไรก็ตาม การอธิบายดังกล่าว อาจเป็นประโยชน์ในการบำบัดรักษาที่เหมาะสมที่สุด การพยากรณ์โรคที่เฉพาะเจาะจง สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคอยู่แล้ว หรือการป้องกันการเกิดซ้ำของโรคหรืออาการในอนาคต

ขั้นตอนแรกของการวินิจฉัย คือการค้นหาสิ่งที่แตกต่างจากเกณฑ์ปรกติ ในมุมมองของกายวิภาคหรือโครงสร้างของร่างกาย สรีระหรือการทำงานของร่างกาย พยาธิสภาพหรือความผิดปรกติของกายวิภาคและสรีระ และการไหลเวียนของระบบเลือดหรือกลไกที่จะทำให้ระบบร่างกายสมดุล

ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์ปรกติ และการวัดผลของอาการผู้ป่วยในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับเกณฑ์ดังกล่าว จะสามารถช่วยกำหนดความแตกต่างจากเกณฑ์สมดุลของผู้ป่วย และระดับความแตกต่าง ซึ่งสามารถช่วยประเมินเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ถึงการวินิจฉัยขั้นต่อไปในกระบวนการวินิจฉัย

เกณฑ์ปรกติ มักอยู่ในรูปแบบผสมของสัญลักษณ์ อาการ หรือผลทดสอบ อาทิ การวินิจฉัยที่เหมาะสมของการติดเชื้อ มักต้องมีการตรวจสอบสัญลักษณ์และกลุ่มอาการ นอกเหนือจากคุณลักษณะทางห้องปฏิบัติการของจุลชีพก่อโรค (Pathogen) ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนขั้นตอนต่อไปหรือขั้นตอนสุดท้าย คือการสอบถามประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วย (อาจจากผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยด้วย) การตรวจร่างกาย การทดสอบเพิ่มเติม และการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค

แหล่งข้อมูล:

  1. สมเด็จพระเทพฯทรงห่วงประชาชนป่วยจากเชื้อราในบ้าน หลังน้ำท่วม http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000153669&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 4].
  2. Laboratory specimen. http://en.wikipedia.org/wiki/Laboratory_specimen [2011, December 4].
  3. Sampling (medicine). http://en.wikipedia.org/wiki/Sample_%28medicine%29 [2011, December 4].
  4. Medical diagnosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Medical_diagnosis [2011, December 4].