ตัวบ่งชี้ ผู้ป่วยโรคหัวใจ

วารสารว่าด้วยโมเลกุลและเซลล์ด้านโรคหัวใจ (Journal of Molecular and Cellular Cardiology) ได้รายงานผลการศึกษาวิจัยในสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า โปรตีนที่ควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ อาจช่วยในการวินิจฉัยอาการหัวใจล้ม (Heart attack) ใน 60% ถึง 70% ของผู้ป่วยที่รับเข้านอนในโรงพยาบาล พร้อมอาการเจ็บหน้าอก แต่ยังหาสาเหตุไม่ได้

โดยทั่วไป ตัวบ่งชี้ผู้ป่วยโรคหัวใจ (Cardiac biomarker) คือโปรตีนที่ได้รับการนำเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อค้นหาสัญญาณว่ากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction; MI) ได้เกิดขึ้นแล้วและบ่งชี้ถึงระดับความรุนแรง

ตัวบ่งชี้ที่นิยมใช้กันมากได้แก่ สาร Cardiac troponin-I ซึ่งสามารถค้นพบสัญญาณกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แม้เวลาผ่านพ้นไป 6 ชั่วโมงหลังอาการหัวใจล้ม แต่ระดับสารนี้ที่สูงขึ้น ยังอาจหมายถึงอาจเกิดจากการติดเชื้อที่ร้ายแรง และจากภาวะอื่นๆได้

ทีมนักวิจัยเปิดเผยถึงการศึกษาในหนูและในตัวอย่างเลือดของคนเมื่อไม่นานมานี้ว่า โปรตีนขนาดใหญ่ที่รวมเส้นใยหนา (Thick filament assembly) พบมากในกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งมีชื่อว่า cMyBP-C นั้น มีบทบาทสำคัญในการทำให้โครงสร้างเนื้อเยื่อหัวใจ (Sarcomeric structure) มีเสถียรภาพขึ้น และควบคุมการทำงานของหัวใจ จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้เร็วกว่า และแม่นยำกว่า troponin-I

การศึกษาในระยะแรก แสดงให้เห็นอย่างมีนัยสำคัญของระดับ cMyBP-C ในหนูที่มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เปรียบเทียบกับหนูที่อยู่ภายใต้การควบคุม

การศึกษาต่อเนื่อง ค้นพบความเข้มข้นของ cMyBP-C มากกว่า troponin-I ในตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยที่มีหัวใจล้มเหลว 16 คน เปรียบเทียบกับผู้ที่มีสุขภาพดีที่อยู่ภายใต้การควบคุม

ผลตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ (Laboratory) ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อ cMyBP-C ถูกนำเข้ากระแสเลือดอย่างรวดเร็ว จะสามารถค้นพบสัญญาณกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แม้เวลาผ่านพ้นไป 12 ชั่วโมงหลังอาการหัวใจล้ม

ข้อเตือนควรระวัง: ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่า cMyBP-C ได้รับการปลดปล่อยออกมา จากเซลล์ที่ขาดเลือดเฉพาะที่ จากเซลล์ที่ตาย หรือจากเซลล์ที่บาดเจ็บ หรือทั้ง 3 อย่างรวมกัน การศึกษาวิจัยดำเนินการในหนู และตัวอย่างเลือดเพียงเล็กน้อยจากคน ไม่อาจสรุปผลได้อย่าง 100%

สถิติผู้ตายจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจ) อยู่ในอันดับต้นๆของผู้ตายจากการเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งหมด ซึ่งการป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเทอรอลสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ

แหล่งข้อมูล:

  1. Cardiac biomarker. http://online.wsj.com/article/SB10001424052970203687504577004131120505396.html [2011, November 10].
  2. Cardiac myosin binding protein-C is a potential diagnostic biomarker for myocardial infarction. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21971072 [2011, November 10].