ตับม้ามโต (Hepatosplenomegaly)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ตับม้ามโต/ตับโตม้ามโต(Hepatosplenomegaly) ไม่ใช่โรค แต่คือ อาการแสดง หรือเป็นภาวะผิดปกติที่ส่งผลให้อวัยวะทั้งสอง คือทั้งตับและทั้งม้าม โตขึ้นพร้อมกันจนแพทย์มักตรวจคลำได้จากการตรวจร่างกายโดยคลำหน้าท้อง ซึ่งทั่วไปอาการพบบ่อยจากตับม้ามโต คือ แน่นอึดอัดท้อง นอกจากนั้น คืออาการจากสาเหตุ/โรคที่ทำให้เกิดตับม้ามโต เช่น โรคซีด, ตัวเหลืองตาเหลือง, อ่อนเพลีย

ทั้งนี้ ในภาวะปกติทั่วไป จะคลำไม่พบทั้งตับและทั้งม้าม เพราะทั้ง 2 อวัยวะจะอยู่ในตำแหน่งใต้ชายโครงขวาและซ้ายตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีตับม้ามโต ส่วนที่คลำได้ คือส่วนที่โตพ้นใต้ชายโครง ทั้งนี้ ทั้ง 2 อวัยวะจะโตขนาดมากน้อยต่างกันได้ ไม่จำเป็นที่ทั้ง 2 อวัยวะจะต้องโตในขนาดเท่าๆกัน

ตับ เป็นอวัยวะในช่องท้องด้านขวาบนสุด รูปร่างและขนาดตับปกติ คือ มีความยาวประมาณ 21-22.5 ซม. (เซนติเมตร) กว้างประมาณ 15-17.5 ซม. หนาประมาณประมาณ 10-12.5 ซม. น้ำหนักประมาณ 1,500-2,000 กรัม แบ่งออกเป็นสองกลีบ (Lobe) ซ้ายและขวา สีของตับเป็นสีน้ำตาลปนแดง ลักษณะความนุ่มแข็งประมาณนุ่มกว่ายางลบเล็กน้อย รูปร่างโดยทั่วไปคล้ายสามเหลี่ยม

ตับ เป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่งต่อการดำรงชีวิต มีหน้าที่หลายประการ

ทั้งในการสะสมน้ำตาล, สร้างน้ำย่อยอาหาร, สร้างฮอร์โมนช่วยสร้างเกล็ดเลือดของไขกระดูก, สร้างสารช่วยการแข็งตัวของเลือด, สันดาป/สังเคราะห์โปรตีนและไขมัน, และทำลายและกำจัดของเสียต่างๆที่รวมถึงยาต่างๆออกจากร่างกายผ่านทางน้ำดี

ม้าม เป็นอวัยวะอยู่ในส่วนบนของช่องท้องด้านซ้ายสุด ใต้ต่อกะบังลมโดยอยู่ในระดับของกระดูกซี่โครงซี่ที่ 9-11 จัดเป็นอวัยวะหนึ่งของระบบน้ำเหลือง คือ เป็น ต่อมน้ำเหลืองขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย มีรูปร่างเป็นก้อนที่ค่อนข้างกลม มีสีออกน้ำตาลแดง ขนาดยาวประมาณ 5.5 นิ้ว กว้างประมาณ 3 นิ้ว หนาประมาณ 1 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 150-200 กรัม

ม้ามมีหน้าที่กรองเม็ดเลือดแดงที่เสียหายออกจากกระแสเลือด, ร่วมกับการสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคให้กับร่างกาย, ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่เข้ามาในกระแสเลือด, และในภาวะที่เกิดความผิดปกติกับไขกระดูกจนไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้ตามปกติ ม้ามจะทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดต่างๆชดเชย

ตับม้ามโต เป็นภาวะพบเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีรายงานสถิติของภาวะนี้เพราะเป็นอาการไม่ใช่ตัวโรค ทั้งนี้พบภาวะตับม้ามโตได้ในทุกอายุ ตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ และพบได้ในทั้ง 2 เพศใกล้เคียงกัน

ภาวะตับม้ามโตมีสาเหตุจากอะไร?

ตับม้ามโต

สาเหตุที่ทำให้เกิดตับม้ามโต/ตับโตม้ามโต มีหลากหลาย ที่พบบ่อย คือ

  • ภาวะตับอักเสบติดเชื้อที่รุนแรง เช่น ในไวรัสตับอักเสบ โรคติดเชื้ออีบีวี โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส โรคไข้จับสั่น โรคไข้ไทฟอยด์
  • โรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งระบบโลหิตวิทยา เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • โรคเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย
  • โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
  • ผลข้างเคียงจากยา/สารบางชนิด เช่น ยาเสพติด, ยาพาราเซตามอลที่กินยาเกินขนาดมาก, ยาฮอร์โมนเพศที่ใช้เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ
  • โรคอื่นที่พบได้น้อยกว่ามาก เช่น โรคความดันหลอดเลือดพอร์ทัลตับสูง

ภาวะตับม้ามโตมีอาการอย่างไร?

อาการจากตับม้ามโต/ตับโตม้ามโต เป็นอาการที่พบได้ในโรค/ภาวะผิดปกติทั่วไป ไม่มีอาการเฉพาะ, โดยมักจะเป็นอาการที่เกิดจาก การมีตับม้ามโต, อาการจากสาเหตุ, และอาการทั่วๆไป

ก. อาการจากมีตับม้ามโต: ถ้าตับและม้ามโตเพียงเล็กน้อย จะไม่ทำให้เกิดอาการ ต่อเมื่อโตมากขึ้นจึงจะก่ออาการ โดยมักเป็นอาการจะที่ตับม้ามโตจนกดเบียดทับอวัยวะข้างเคียง เช่น

  • อึดอัด/แน่นท้อง ท้องอืด กินอาหารได้น้อยจากอวัยวะที่โต กดเบียดทับกระเพาะอาหารและลำไส้
  • อาจ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย ถ้าตับม้ามโตมากจนกด เบียด ดัน กะบังลมจนเบียดดันปอด
  • นอกจากนั้น คือ
    • ผู้ป่วยจะรู้สึกท้องป่อง/บวมผิดปกติ
    • และแพทย์มักตรวจร่างกายคลำช่องท้องพบตับม้ามได้ โดยพบเป็นก้อนเนื้อพ้นออกมาจากใต้ชายโครงทั้ง 2ด้านขวาและซ้าย ตามลำดับ
    • ผู้ป่วยบางคน อาจมีอาการ ปวด/เจ็บท้องส่วนตับและ/หรือม้ามได้

ข. อาการจากสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคลตามแต่ละสาเหตุ เช่น อาการของ โรคเลือด (เช่น โรคธาลัสซีเมีย), ไข้ไทฟอยด์, โรคไข้จับสั่น, โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี, หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงอาการได้จากเว็บ haamor.com)

ค. อาการทั่วๆไป: เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

เมื่อไรควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังที่กล่าวใน หัวข้อ “อาการ” ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังการดูแลตนเอง ควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ แต่ถ้าอาการเลวลง หรืออาการรุนแรงตั้งแต่แรก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึง 2-3 วัน

แพทย์วินิจฉัยภาวะตับม้ามโตอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะตับม้ามโต/ตับโตม้ามโต ได้จาก

  • ประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัย การดื่มสุรา การเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ ร่วมกับ
  • การตรวจร่างกายและตรวจคลำตับและม้ามโดยตรวจคลำช่องท้อง
  • เมื่อตรวจพบตับม้ามโต แพทย์จะมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ เช่น
    • ตรวจเลือด ดู ค่าซีบีซี/CBC, ค่าเอนไซม์การทำงานของตับ
    • ตรวจภาพตับและม้าม ด้วย อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน), และ/หรือเอมอาร์ไอ
    • และอาจมีการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตัดชิ้นเนื้อจากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา, และ/หรือ การตรวจไขกระดูกด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาหรือด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาภาวะตับม้ามโตอย่างไร?

แนวทางการรักษาตับม้ามโต/ตับโตม้ามโต คือการรักษาสาเหตุที่ทำให้ตับม้ามโต, และการรักษาประคับประคองตามอาการ(การรักษาตามอาการ)

ก. การรักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นกับสาเหตุ เช่น รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเมื่อสาเหตุเกิดจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว รักษาโรคเลือดเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคเลือด เป็นต้น (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุฯ’ ที่รวมถึงวิธีรักษาได้จากเว็บ haamor.com)

ข. การรักษาตามอาการ: คือให้การรักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น

  • ยาลดอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • แนะนำการนอนเอนตัวแทนการนอนหงาย/นอนราบ เมื่อการนอนราบก่อให้เกิดการแน่นท้องมากหรือเกิดการหายใจลำบากจากตับม้ามโตมากจนดันกะบังลม ส่งผลให้ปอดขยายตัวได้น้อย
  • กินอาหารอ่อน หรืออาหารน้ำ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) เมื่อแน่นท้องมากจากตับโตเบียดทับกระเพาะอาหารและลำไส้

ภาวะตับม้ามโตมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของการมีตับม้ามโต/ตับโตม้ามโต ขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • ถ้าสาเหตุเกิดจาก ผลข้างเคียงจากยา การพยากรณ์โรคจะดี มักรักษาได้หายหลังจากหยุดยานั้นๆ
  • หรือ การพยากรณ์โรคในผู้ป่วยตับม้ามโตในโรคมะเร็ง มักมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี

ภาวะตับม้ามโตก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากตับม้ามโต/ตับโตม้ามโต คือ อาการที่เกิดจากตับม้ามโตจนกด เบียดทับ อวัยวะข้างเคียง เช่น

  • อึดอัด/แน่นท้อง
  • อาหารไม่ย่อย, กินไม่ได้ จากตับ/ม้ามกดเบียดทับกระเพาะอาหารและลำไส้
  • แน่นหน้าอก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย จากตับม้ามโต กด เบียดดัน ปอด

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีตับม้ามโต?

การดูแลตนเองที่บ้านหลังพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีตับม้ามโต/ตับโตม้ามโต ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ไม่สูบบุหรี่/เลิกสูบบุหรี่
  • เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่กินยาต่างๆ(รวมถึงวิตามิน อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต่างๆ)พร่ำเพื่อ, ไม่ซื้อยาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อแพทย์ให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆแย่ลง เช่น เบื่ออาหารมากขึ้น คลื่นไส้อาเจียนมากขึ้น
  • กลับมามีอาการเดิมที่รักษาหายแล้ว เช่น กลับมามีตับม้ามโตอีก
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีไข้ มีตัวเหลืองตาเหลือง
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมาก ขึ้นผื่นทั้งตัว
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะตับม้ามอย่างไร?

การป้องกันตับม้ามโต/ตับโตม้ามโตมีทั้งสาเหตุที่ป้องกันได้และที่ป้องกันได้ยากหรือไม่สามารถป้องกันได้

  • สาเหตุของตับม้ามโต/ตับโตม้ามโตที่ป้องกันได้: ซึ่งที่สำคัญ คือการติดเชื้อ, และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา ได้แก่
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) และ
    • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา ถ้าดื่มอยู่ก็ควรเลิก
  • สาเหตุที่ป้องกันได้ยากหรืออาจไม่สามารถป้องกันได้ เช่น
    • โรคมะเร็ง
    • โรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Hepatosplenomegaly [2021,May22]
  2. https://www.oxfordmedicaleducation.com/gastroenterology/hepatosplenomegaly/ [2021,May22]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Spleen [2021,May22]
  4. https://www.healthline.com/health/hepatosplenomegaly#treatment [2021,May22]
  5. http://haamor.com/th/กายวิภาคตับและระบบทางเดินน้ำดี/[2021,May22]