ตัดมดลูกแล้วจำเป็นต้องแถมรังไข่ด้วยหรือ

นพ. สันธา ศรีสุภาพ กลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าหลังจากวินิจฉัยว่ามดลูกมีพยาธิสภาพผิดปกติ ในการรักษาแพทย์จะตัดมดลูกออก แล้วในหลายกรณีแพทย์ก็จะตัดรังไข่ออกไปด้วย สาเหตุที่ต้องตัดรังไข่ด้วยก็เพราะเป็นมะเร็งรังไข่ด้วย

นพ. สันธาได้ทำการศึกษา “การตัดมดลูกและรังไข่ในสตรีไทย พ.ศ. 2548-2553” โดยในช่วงดังกล่าวมีผู้หญิงไทยทั่วประเทศเข้ารับการตัดมดลูกประมาณ 160,000 ราย โดย 55 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ไปตัดมดลูกจะโดนตัดรังไข่ไปพร้อมกันเลย ช่วงอายุที่ตัดอยู่ระหว่าง 45–65 ปี คิดเป็น 72%

กรณีที่เป็นโรคมะเร็งส่วนใหญ่ต้องตัดมดลูกและรังไข่ไปพร้อมกัน แต่สาเหตุที่ตัดมดลูก การศึกษาพบว่า 82% มิใช่กลุ่มโรคมะเร็ง มีเพียง 18% เท่านั้นที่เป็นกลุ่มโรคมะเร็ง ความจำเป็นที่จะต้องตัดรังไข่กลุ่มที่มิได้เป็นโรคมะเร็งไปด้วยหรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ขึ้นอยู่กับว่ารังไข่ผิดปกติหรือไม่

แต่ในบรรดากลุ่มที่มิได้เป็นโรคมะเร็งนี้ มีการตัดรังไข่ไม่ปกติเพียง 26% แต่ตัดรังไข่ปรกติไปถึง 74% การตัดรังไข่ปรกติ ในผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นมะเร็ง เนื่องจากเป็นมะเร็งปากมดลูก เกรงว่าจะลุกลามไปในที่สุด ในขณะที่กลุ่มที่มิได้เป็นมะเร็งและมีรังไข่ปกติ แต่ต้องตัดรังไข่ทิ้ง สาเหตุหลักคือเนื้องอกมดลูก ก็เลยถูกแถมตัดรังไข่ไปด้วย

ส่วนคนที่มิได้เป็นโรคมะเร็งแต่มีรังไข่ผิดปกติ สาเหตุที่ตัด คือ ช็อกโกแลตซีสต์ แต่ นพ.เกษม เสรีพรเจริญกุล หัวหน้ากลุ่มงานสูตินรีเวชศาสตร์ รพ.ราชวิถี ได้ให้ความเห็นว่าหากเนื้องอกไม่ใหญ่จนเกิดอันตรายกับผู้ป่วย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องตัดทิ้ง จึงเป็นประเด็นที่ควรมีการปรึกษาหารือกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย

รังไข่ของผู้หญิงอยู่ในร่างกายภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งต่างจากอัณฑะของผู้ชายที่อยู่ภายนอกร่างกาย ทำงานโดยการสร้างไข่ และ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโพรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่บ่งชี้ลักษณะเพศหญิง ในปัจจุบัน แพทย์บางท่านให้คำแนะนำว่าควรเก็บรังไข่ไว้จนถึงอายุ 65 ปีเป็นอย่างน้อย

รังไข่มีหน้าที่สำคัญคือผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งฮอร์โมนตัวหลักในกลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ เอสตราไดออล (Estradiol) แม้หลังจากวัยทองไปแล้ว รังไข่ก็ยังอาจสร้างฮอร์โมนเอสตราไดออล และฮอร์โมนอื่น ๆ ถ้าตัดรังไข่ ร่างกายก็จะหยุดผลิตฮอร์โมนดังกล่าว ผลลัพธ์ก็คืออาการร้อนวูบวาบจะเกิด เนื่องจากฮอร์โมนตัวหลักลดลง

ดังนั้นผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกควรจะมีการวางแผนร่วมกันว่า กรณีที่รังไข่ปกติสมควรจะเก็บไว้หรือไม่ เพราะแม้จะหมดประจำเดือนไปแล้ว การเก็บรังไข่ไว้ทำให้ร่างกายยังอาจสามารถสร้างฮอร์โมนที่เป็นประโยชน์อยู่ ในขณะที่การเก็บรังไข่ไว้มีสถิติที่จะกลายเป็นเนื้อร้ายเพียง 0.25% หรือ 1 ใน 400 เท่านั้น

ผู้ป่วยที่โดนตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้างหรือข้างใดข้างหนึ่ง มีงานศึกษาวิจัยระบุว่า ถ้าโดนตัดรังไข่ก่อนอายุ 45 ปี มีโอกาสเจ็บป่วย ด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งโรคกระดูก สูงกว่าคนที่หมดประจำเดือนโดยธรรมชาติ อาจต้องใช้ฮอร์โมนทดแทนไปจนอายุ 50 ปี แต่ควรอยู่ในการดูแลและเฝ้าติดตามของแพทย์คลินิกวัยทองเป็นระยะๆ

ผลพวงหนึ่งจากการตัดมดลูก ก็คือจะไม่มีประจำเดือน และไม่มีโอกาสตั้งครรภ์ แต่มีกรณีเกี่ยวข้องซึ่งบางคนอาจพูดถึงกัน ก็คือ เมื่อตัดมดลูกแล้ว ความรู้สึกทางเพศอาจลดลง เพราะเข้าใจว่า ถ้าไม่มีมดลูกแล้วเหมือนข้างในเป็นโพรคงว่างเปล่า ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเวลาที่มีเพศสัมพันธ์นั้น ความกระชับของช่องคลอดอยู่ตอนช่วงต้นเท่านั้น มดลูกมิได้มีบทบาทอะไรต่อความรู้สึกทางเพศทั้งของผู้หญิง และของผู้ชาย

แหล่งข้อมูล:

  1. การตัดมดลูกและรังไข่ในสตรีไทย - X-RAY สุขภาพ http://www.dailynews.co.th/article/1490/14383 [2012, March 4].
  2. Ovary. http://en.wikipedia.org/wiki/Ovary [2012, March 4].