ตรวจเลือดและปัสสาวะ ลดความเสี่ยง (ตอนที่ 6)

สารบัญ

การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) เป็นการตรวจส่วนประกอบที่มีอยู่ในปัสสาวะซึ่งเป็นของเสียที่ขับออกจากไต ของเสียที่ขับออกจากไตรวมถึงแร่ธาตุ ของเหลว สารจากเลือดที่มารวมอยู่ในปัสสาวะ โดยทั่วไปปริมาณปัสสาวะของผู้ใหญ่จะอยู่ที่ 1- 2 ลิตรต่อวัน สำหรับเด็กจะอยู่ที่ 0.3 - 1.5 ลิตรต่อวัน ทุกอย่างที่เรากิน ดื่ม ออกกำลังกาย และประสิทธิภาพของไต ล้วนมีผลต่อปัสสาวะที่ออกมา

การตรวจปัสสาวะอาจทำเพื่อ :-

  • เช็คว่ามีโรคหรือมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือไม่ อาการของการติดเชื้ออาจรวมถึงการที่ปัสสาวะมีสีหรือมีกลิ่นเหม็น ปวดเวลาถ่ายปัสสาวะหรือปัสสาวะลำบาก ปวดสีข้าง มีเลือดในปัสสาวะ (Hematuria) หรือเป็นไข้
  • ตรวจดูถึงผลการรักษา เช่น โรคเบาหวาน นิ่วในไต การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ความดันโลหิตสูง หรือโรคตับ
  • เป็นการตรวจร่างกายประจำปี
    • การทดสอบปัสสาวะทำได้มากกว่า 100 ชนิด แต่ที่ทำอยู่เป็นประจำได้แก่ การดู :-

      • สี – มีหลายสิ่งที่มีผลกระทบต่อสีของปัสสาวะ ซึ่งรวมถึงความสมดุลของของเหลว อาหาร ยา และโรค สีปัสสาวะที่เข้มหรืออ่อนบอกได้ว่ามีน้ำอยู่ในปัสสาวะมากน้อยแค่ไหน อาหารเสริมวิตามินบีสามารถทำให้ปัสสาวะเป็นสีเหลือง ยาบางชนิด ลูกแบลคเบอรี่ บีทรูท หรือแม้แต่เลือดในปัสสาวะก็สามารถทำให้ปัสสาวะมีสีน้ำตาลแดงได้
      • ความใส – ปกติปัสสาวะจะใส เชื้อแบคทีเรีย เลือด เชื้ออสุจิ (Sperm) มูกหรือเมือก (Mucus) สามารถทำให้ปัสสาวะมีสีขุ่นได้
      • กลิ่น – ปกติปัสสาวะจะมีกลิ่นไม่แรง แต่มีกลิ่นคล้ายถั่วเล็กน้อย โรคบางชนิดอาจเป็นสาเหตุให้กลิ่นของปัสสาวะเปลี่ยนไป เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย อีโคไล (E. coli) จะทำให้มีกลิ่นเหม็น ในขณะที่โรคเบาหวานหรือการอดอาหารทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นคล้ายของหวานหรือผลไม้ได้
      • ความถ่วงจำเพาะ (Specific gravity) - เป็นการตรวจสารที่อยู่ในปัสสาวะ สามารถแสดงได้ว่าไตสร้างความสมดุลของน้ำในปัสสาวะได้ดีแค่ไหน ยิ่งมีความถ่วงจำเพาะสูงแสดงว่ายิ่งมีสารอยู่ในปัสสาวะมาก เมื่อเราดื่มน้ำมาก ไตจะผลิตปัสสาวะได้มากทำให้ความถ่วงจำเพาะลดลง ในทางตรงข้ามถ้าเราไม่ดื่มน้ำ ไตก็จะผลิตปัสสาวะได้น้อยทำให้ความถ่วงจำเพาะสูง
      • ค่า pH (Power of Hydrogen ion) – เป็นค่าที่ใช้วัดความเป็นกรด (Acidic) เป็นด่าง (Alkaline / Basic) ในปัสสาวะ ค่า pH ที่ 4 แปลว่ามีความเป็นกรดมาก ค่า pH ที่ 7 เป็นค่ากลาง และค่า pH ที่ 9 มีความเป็นด่างสูง บางที่ค่า pH ของปัสสาวะก็อาจได้รับผลกระทบจากการรักษา เช่น แพทย์อาจสั่งให้คนไข้ทำปัสสาวะให้เป็นกรดหรือด่างเพื่อป้องกันการก่อตัวของนิ่วในไต (Kidney stones) บางชนิด
      • โปรตีน – เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยพบในปัสสาวะ การเป็นไข้ การออกกำลังกายมาก การตั้งครรภ์ และโรคบางชนิด โดยเฉพาะโรคไต อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโปรตีนขึ้นในปัสสาวะ
      • กลูโคส (Glucose) – เป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่พบในเลือด ปกติจะพบกลูโคสน้อยมากในปัสสาวะ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงในโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ (Uncontrolled diabetes) น้ำตาลจะล้นออกไปสู่ปัสสาวะ กลูโคสสามารถพบในปัสสาวะเมื่อไตถูกทำลายหรือติดเชื้อ
      • ไนไตรต์ (Nitrites) - แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection : UTI) ทำให้เกิดเอนไซม์ที่สามารถเปลี่ยนไนเตรต (Nitrate) เป็นไนไตรต์ (Nitrites) การพบไนไตรต์ในปัสสาวะแปลว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
        • แหล่งข้อมูล

          1. Information and Resources. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/urine-test [2013, March 6].