ตรวจเลือดและปัสสาวะ ลดความเสี่ยง (ตอนที่ 3)

สารบัญ

ระดับน้ำตาลในเลือด (Blood glucose) – กลูโคสเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ระดับกลูโคสที่ผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน การตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดบางครั้งอาจต้องงดอาหารก่อนตรวจ แต่บางครั้งก็ตรวจหลังจากรับประทานอาหาร หรือบางทีก็สามารถตรวจได้เลย

แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในร่างกาย ระดับแคลเซียมที่ผิดปกติในเลือดอาจแสดงว่าไตมีปัญหา มีโรคกระดูก โรคไทรอยด์ โรคมะเร็ง การขาดสารอาหาร หรือความผิดปกติอื่นๆ

อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) เป็นแร่ธาตุที่ช่วยรักษาระดับของเหลวและความสมดุลของกรดในร่างกาย ประกอบด้วยโซเดียม (Sodium) โปตัสเซียม (Potassium) ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate) และคลอไรด์ (Chloride) ระดับอิเล็กโทรไลต์ที่ผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของภาวะขาดน้ำ โรคไต โรคตับ โรคหัวใจวาย โรคความดันสูง หรืออื่นๆ

การตรวจเลือดเพื่อดูสภาพการทำงานของไต โดยดูจากระดับไนโตรเจนในเลือด (Blood Urea Nitrogen : BUN) และค่า Creatinine การตรวจนี้เป็นการตรวจของเสียที่ขับออกจากร่างกาย ระดับ BUN และค่า Creatinine ที่ผิดปกติอาจหมายถึงเป็นโรคไตหรือไตทำงานผิดปกติ

การตรวจเอนไซม์ในเลือด (Blood enzyme tests) – เอนไซม์ช่วยควบคุมระดับสารเคมีที่มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย มีการตรวจเอนไซม์หลายวิธี เช่น การตรวจเอนไซม์เพื่อวิเคราะห์ถึงโรคหัวใจจะดู Troponin และ Creatine kinase (CK) โดย Troponin เป็นโปรตีนที่ช่วยเรื่องกล้ามเนื้อ

เมื่อกล้ามเนื้อหรือหัวใจได้รับบาดเจ็บ Troponin จะซึมออกทำให้ระดับ Troponin ในเลือดสูงขึ้น เช่น ระดับ Troponin จะสูงเมื่อเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือหัวใจวาย (Heart attack) ดังนั้นแพทย์จึงมักจะสั่งให้ตรวจ Troponin กรณีที่คนไข้มีอาการเจ็บหน้าอกหรือมีสัญญาณของโรคหัวใจวาย

เลือดจะผลิตสาร Creatinie kinase-MB (CK-MB) เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย ระดับ CK-MB ในเลือดที่สูงสามารถบอกได้ว่ามีภาวะหัวใจวาย

การตรวจเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ – การตรวจกลุ่มไลโปโปรตีน (Lipoprotein) สามารถทำให้รู้ได้ว่ากำลังอยู่ในความเสี่ยงของการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ (Coronary heart disease : CHD) หรือไม่ เพราะการตรวจนี้ดูที่สารในเลือดที่เป็นตัวนำคลอเรสเตอรอล โดยจะต้องมีการงดอาหาร 9-12 ชั่วโมง ก่อนการตรวจ โดยการตรวจไลโปโปรตีนจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ

  • คลอเรสเตอรอลรวม
  • ระดับ LDL (Low density lipoprotein) ซึ่งเป็นคลอเรสเตอรอลชนิดเลว เป็นไขมันที่ความหนาแน่นต่ำ ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
  • ระดับ HDL (High density lipoprotein) ซึ่งเป็นคลอเรสเตอรอลชนิดดี เป็นไขมันที่มีความหนาแน่นสูง ดีสำหรับหลอดเลือดแดง เพราะจะป้องกันไม่ให้ไขมันที่ไม่ดีไปพอกสะสมในหลอดเลือดแดง
  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) เป็นไขมันในเลือดอย่างหนึ่งที่มีผลเสียต่อสุขภาพ

แหล่งข้อมูล

  1. Types of Blood Tests http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/bdt/types.html [2013, March 3].