ตรวจเลือดและปัสสาวะ ลดความเสี่ยง (ตอนที่ 1)

สารบัญ

นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง กล่าวว่า ในปีนี้ อบจ.ตรัง ได้ตั้งงบประมาณไว้ถึง 14 ล้านบาท เพื่อให้บริการเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงทั้งจังหวัด จำนวน 25,000 คน ซึ่งจะทำการตรวจร่างกายตามรายการต่อไปนี้

(1) ตรวจวัดความดัน ชั่งน้ำหนัก (2) ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (3) ตรวจปัสสาวะสมบูรณ์แบบ (4) ตรวจหาหมู่เลือด (5) ตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด (เบาหวาน) (5) ตรวจหาปริมาณไขมันในเลือด (6) ตรวจการทำงานของไต (7) ตรวจวัดระดับกรดยูริค หรือโรคเกาต์ (8) ตรวจการทำงานของตับ (9) ตรวจระดับแคลเซียมในเลือด (10) ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ รวมทั้ง (11) ตรวจหาโรคมะเร็งจากกลุ่มเสี่ยง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ชายจะตรวจ 3 จุด คือ ตับ ลำไส้ และต่อมลูกหมาก ส่วนผู้หญิงจะตรวจมะเร็งเต้านม ปากมดลูก ลำไส้ และท่อรังไข่

โครงการนี้ อบจ.ตรัง ให้การสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งจะกระจายไปยังกลุ่มเป้าหมาย ในวัยอายุ 35 ปีขึ้นไป ครบทุกหมู่บ้าน จนช่วยให้ประชาชนชาวตรังได้รับรู้ถึงสุขภาพของตนเองมาแล้วนับแสนๆ คน ตลอดจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อให้ร่างกายฟื้นกลับมามีสภาพสมบูรณ์แข็งแรงเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปี พ.ศ. 2556 จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการไปจนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ หรือรวมประมาณ 3 เดือน

การตรวจเลือดเป็นวิธีการตรวจที่นิยมใช้ทั่วไป เมื่อมีการตรวจร่างกาย (Checkups) ช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์ถึงโรคและสภาพการทำงาน ของร่างกายได้ว่าเป็นอย่างไร การตรวจเลือดโดยทั่วไปไม่ต้องมีการเตรียมตัวแต่อย่างไร มีเพียงการตรวจบางชนิดเท่านั้นที่ต้องงดอาหารก่อนตรวจ 8-12 ชั่วโมง เช่น การตรวจหาระดับน้ำตาล การตรวจระดับไขมันในเลือด เป็นต้น

ระหว่างการตรวจ จะใช้เข็มเจาะเข้าที่เส้นเลือดดำ (Vein) เพื่อนำเลือดตัวอย่างไปทำการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บ (Laboratory) ที่ห้องแล็บ นักวิเคราะห์อาจใช้เลือดทั้งหมดในการนับเม็ดเลือด (Blood cells) หรือใช้วิธีการแยกเม็ดเลือดออกจากน้ำเหลืองในเลือด ซึ่งเรียกว่า พลาสม่าหรือเซรุ่ม (Plasma / Serum) ผลการตรวจช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดกับร่างกายในระยะแรก ซึ่งช่วยทำให้การรักษาเป็นไปได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ดีแพทย์ไม่สามารถวิเคราะห์โรคและปัญหาด้านการรักษาโดยดูจากผลเลือดเพียงอย่างเดียว แพทย์อาจพิจารณาปัจจัยอื่นเพื่อยืนยันผลการวิเคราะห์โรคด้วย ซึ่งอาจรวมถึง การดูอาการ ประวัติการรักษา ความดันเลือด การหายใจ การจับชีพจร (Pulse) ระดับอุณหภูมิในร่างกาย และการทดสอบด้วยวิธีอื่นๆ

สำหรับการตรวจเลือดนั้น ช่วยให้แพทย์สามารถ :

  • ประเมินการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ว่าเป็นอย่างไร เช่น ไต ตับ ไทรอยด์ และหัวใจ
  • ใช้วิเคราะห์โรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ (HIV / AIDS) โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง (Anemia) โรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary heart disease)
  • หาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ
  • ดูว่ายาที่ใช้อยู่ให้ผลดีหรือไม่
  • ประเมินว่าเลือดมีการจับตัวเป็นลิ่ม (Clotting) หรือไม่

แหล่งข้อมูล

  1. อบจ.ตรัง ตั้งงบ 14 ล้านเจาะเลือดสู้โรคร้าย http://manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9560000020687&Keyword=%e2%c3%a4 [2013, March 1].
  2. What Are Blood Tests? http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/bdt/ [2013, March 1].