ตกเลือดช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ หรือ เลือดออกทางช่องคลอดช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ (Bleeding during first half of pregnancy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์หมายถึงอะไร?

ทางการแพทย์ ถือว่าสตรีตั้งครรภ์ใช้เวลาประมาณ 40 สัปดาห์ จึงจะครบกำหนดคลอด ระหว่างนี้ไม่ควรมีเลือดออกทางช่องคลอด หากมีเลือดออกทางช่องคลอดถือว่าผิดปกติ

การมีเลือดออกทางช่องคลอด หรือ การตกเลือด (ในบทความนี้ วลีว่า “การตกเลือด หรือ การมีเลือดออก หรือ ภาวะมีเลือดออก” หมายถึง “มีเลือดออกทางช่องคลอด”) ระหว่างตั้งครรภ์ (Bleeding during pregnancy) แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

ก. การมีเลือดออกในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ คือ เลือดออกช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์ลงมา โดยเฉพาะจะพบบ่อยในช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก อุบัติ การณ์ของเลือดออกในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์พบมากถึง 20-40% กับ อีกกลุ่มคือ

ข. การมีเลือดออกในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ หรือ การตกเลือดก่อนคลอด คือ เมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยมีสาเหตุได้หลายสาเหตุ ซึ่งลักษณะและปริมาณเลือดที่ออก จะมีตั้งแต่เป็น หยดเลือดกะปริดกะปรอย ไปจนถึงมีเลือดออกมากจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อุบัติการณ์ของเลือดออกในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์พบได้ประมาณ 4% (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การตกเลือดก่อนคลอด)

สาเหตุของเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?

ตกเลือดช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์

สาเหตุของเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มสาเหตุ คือ

  • สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์
    • เลือดออกจากการฝังตัวของตัวอ่อน (Implantation bleeding) ลักษณะจะเป็นเลือดออกเล็กน้อย หากรู้ประวัติประจำเดือนได้แน่นอน ก็สามารถคาดคะเนวันที่ตัวอ่อนฝังตัวที่โพรงมดลูกได้ คือ จะประมาณ 3 สัปดาห์นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ในสมัย ก่อนจะเรียกว่า “เลือดล้างหน้าลูก หรือ เลือดล้างหน้าเด็ก” ซึ่งบางคนไม่สังเกต คิดว่าเป็นเลือดประจำเดือน แต่โดยทั่วไปปริมาณจะน้อยกว่าประจำเดือนปกติมา
    • การแท้ง (Abortion or Miscarriage) คือ เคยมีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน แต่ไม่สา มารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงก่อนที่ทารกจะมีชีวิตรอดนอกครรภ์มารดา การแท้งมีหลายชนิด คือ
      • แท้งคุกคาม (Threatened abortion) จะมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็ก น้อย อาจมีปวดท้อง ปากมดลูกปิด โอกาสจะตั้งครรภ์ต่อไปได้ มีประมาณ 50%
      • แท้งแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion) มีเลือดออก ปวดท้อง บางครั้งมีถุงน้ำคร่ำแตกร่วมด้วย ปากมดลูกเปิด ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้
      • แท้งไม่ครบ (Incomplete abortion) จะมีลักษณะเลือดออกมาก ปวดท้องมาก มีเศษทารก หรือ มีเศษรก หลุดมาบางส่วน ปากมดลูกเปิด ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อได้ แพทย์ต้องทำการขูดมดลูกเอาส่วนที่ค้างในโพรงมดลูกออก มาให้หมด เพื่อให้มดลูกหดรัดตัวได้ เลือดจะได้หยุดไหล
      • แท้งครบ (Complete abortion) จะมีลักษณะเลือดออกมาก ปวดท้องมากช่วงแรก ต่อมามีทารก หรือรกหลุดออกมา อาการปวดท้องจะหายไป เลือด ออกน้อยลง
      • ท้องลมหรือไข่ฝ่อ (Blighted ovum) มีการตั้งครรภ์ แต่ตัวอ่อนฝ่อไป จะมีลักษณะเลือดออกไม่มาก
      • แท้งค้าง (Missed abortion) คือ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ก่อนแล้วจึงเกิดการแท้ง
    • การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือ ท้องนอกมดลูก (Ectopic pregnancy) เป็นภาวะที่ตัวอ่อนไปฝังตัวที่นอกโพรงมดลูก ที่พบบ่อย คือ ที่ท่อนำไข่ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ท้องนอกมดลูก)
    • การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy) เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ที่ต้องได้ รับการยุติการตั้งครรภ์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
      • การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกทั้งหมด (Complete mole) มีเฉพาะถุงน้ำใสจำนวนมากในโพรงมดลูก ไม่มีทารก
      • การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกบางส่วน (Incomplete mole) จะมีทารกร่วมกับถุงน้ำใสจำนวนมากในโพรงมดลูก
  • สาเหตุไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์
    • การอักเสบของอวัยวะภายในของสตรี เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก และ/หรือ มด ลูก ซึ่งจะมีลักษณะเลือดออกเพียงเล็กน้อย
    • การมีติ่งเนื้อเมือกที่ปากมดลูก (Endocervical polyp) จะมีลักษณะเลือดออกเพียงเล็กน้อย
    • การมีพยาธิสภาพที่ปากมดลูก เช่น มะเร็งปากมดลูก (Carcinoma of cervix) เลือดที่ออกอาจมีปริมาณเล็กน้อย ไปจนถึงปริมาณมากๆจนก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ ได้แก่

  • สตรีตั้งครรภ์อายุมาก
  • สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
  • มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่าง กายผิดปกติ
  • มีความผิดปกติในโครงสร้างหน่วยพันธุกรรม (โครโมรโซม, Chromosome) ในสามี หรือ ในภรรยา หรือในทั้งคู่
  • มีความผิดปกติ หรือ มีพยาธิสภาพ ของมดลูก และ/หรือของปากมดลูก
  • มีความผิดปกติของระดับฮอร์โมน ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์

มีผลข้างเคียงจากภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์อะไรบ้าง?

ผลข้างเคียง (ภาวะ/ผลแทรกซ้อน) จากมีภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ คือ

  • แท้งบุตร
  • ภาวะซีดจากการเสียเลือด
  • ผลต่อด้านจิตใจ ทำให้เกิด ความกังวลใจ ผิดหวัง เสียใจ หมดกำลังใจ เมื่อเกิดการแท้ง

ภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์มีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของภาวะนี้ ขึ้นกับสาเหตุ

  • หากทารกสุขภาพแข็งแรงดี เลือดออกไม่มาก มักสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้เป็นปกติ โดยทารกไม่พิกลพิการจากการที่มีเลือดออก
  • แต่หากทารกมีความผิดปกติทางโครโมโซม (Chromosome) ภาวะนี้มักสิ้นสุดด้วยการแท้ง ซึ่งเป็นกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ เพื่อให้ได้สิ่งที่แข็งแรงที่สุด

วินิจฉัยสาเหตุภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของภาวะนี้ โดย

  • ซักประวัติอาการ และประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกใน ช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์มีหลายสาเหตุ แพทย์จึงซักประวัติฯอย่างละเอียด เช่น ลักษณะเลือดที่ออก ปริมาณเลือด มีเศษชิ้นเนื้อหลุดออกมาด้วยหรือไม่ อาการร่วม เช่น ปวดท้อง ตำแหน่งการปวด ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการแท้งหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • ตรวจร่างกาย เช่น การวัดความดันโลหิต จับชีพจรว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ตรวจหนังตาด้านในว่าซีดหรือไม่ (เพราะหากมีเลือดออกมาก หรือมีเลือดออกในช่องท้องกรณีตั้ง ครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูก หนังตาด้านในจะซีด) ตำแหน่งที่มีอาการปวดท้อง มีก้อนในท้องผิดปกติหรือไม่ ขนาดมดลูกสัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่
  • การตรวจภายใน ดูว่า มีแผล หรือร่องรอยความผิดปกติต่างๆของช่องคลอด ปากมดลูกหรือไม่ ตรวจขนาดมดลูกว่า สัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่ และกดเจ็บหรือไม่ ตรวจปีกมด ลูกมีก้อนหรือไม่ และกดเจ็บหรือไม่
  • ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง เพื่อดูว่าทารกในครรภ์ยังมีชีวิตดีอยู่หรือไม่ หรือเป็นการตั้ง ครรภ์นอกมดลูก หรือเป็นการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก เพราะการตรวจปัสสาวะจะให้ผลบวก (พบว่า มีการตั้งครรภ์) หมดทั้ง 3 โรค ไม่สามารถใช้แยกโรคได้ หรือแม้แต่หากทารกในครรภ์เสียชีวิตในครรภ์ การตรวจปัสสาวะก็ยังให้ผลบวกว่าตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากยังมีฮอร์ โมนเหลืออยู่ในปัสสาวะแม่นานได้ถึง 2-3 สัปดาห์หลังทารกเสียชีวิต

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

การมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องปกติ ดังนั้น ควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอหากพบว่ามีเลือดออก

รักษาภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์อย่างไร?

การรักษาภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์จะขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • แท้งคุกคาม: แพทย์จะแนะนำให้นอนพักผ่อนมากๆ งดทำงานหนัก งดมีเพศสัมพันธ์ 2-4 สัปดาห์ ซึ่งสตรีตั้งครรภ์มีโอกาสตั้งครรภ์ต่อไปได้ประมาณ 50% ในกลุ่มที่จะสามารถตั้ง ครรภ์ต่อไปได้ อาการปวดท้องจะลดลง เลือดจะค่อยๆหยุดไป ซึ่งหากการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไป เลือดที่ออกก็ไม่ได้มีผลทำให้ทารกผิดปกติ แต่ในรายที่มีโอกาสแท้ง อาการปวดท้องจะเพิ่มขึ้น เลือดออกมากขึ้น แล้วก็จะแท้งออกมา
  • แท้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือ ทารกเสียชีวิตในครรภ์: การรักษามี 3 ทาง ได้แก่
    • รอให้แท้งออกมาเอง ซึ่งส่วนมากจะแท้งภายใน 2 สัปดาห์
    • ขูดมดลูก
    • เหน็บยาในช่องคลอดเพื่อชักนำให้เกิดการแท้ง
  • แท้งไม่ครบ: มักต้องขูดมดลูกหากมีเลือดออกมาก
  • แท้งครบ: แพทย์จะเพียงให้คำแนะนำในการดูแลตนเอง
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก: (อ่านเพิ่มเติมในบท ท้องนอกมดลูก)
  • การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก: การรักษา คือ ใช้เครื่องดูดสุญญากาศ (เครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง ) ดูดสิ่งที่อยู่ในโพรงมดลูกออกมา ซึ่งจะดูดได้อย่างรวดเร็ว ลดการเสียเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดูแลตนเองอย่างไรหลังขูดมดลูกหรือมีการแท้งแล้ว?

การดูแลตนเองหลังจากการขูดมดลูกหรือมีการแท้งแล้ว คือ

  • พักผ่อนให้เต็มที่
  • งดทำงานหนักประมาณ 1 สัปดาห์
  • งดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์
  • สังเกตอาการเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งควรจะต้องลดลงเรื่อยๆ ไม่มีอาการปวดท้อง ไม่มีไข้ หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

หลังแท้งแล้วนานแค่ไหนจึงจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้?

ไม่มีตัวเลขที่แน่นอนจากการศึกษาวิจัยว่า หลังแท้ง นานแค่ไหนจึงเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมหรือที่ดีที่สุดจึงจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ ส่วนมากที่แพทย์แนะนำผู้ป่วยคือ

  • หากต้องการมีบุตรเร็ว น่าจะเว้นการมีบุตรไปอย่างน้อยประมาณ 2-3 รอบประจำเดือน คือ ควรรอให้มีประจำ เดือนมาจนเป็นปกติก่อน เพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้แข็งแรง ค่อยตั้งครรภ์ครั้งต่อไป โดย เฉพาะหลังได้รับการขูดมดลูก
  • แต่หากยังไม่ต้องการมีบุตร ควรพิจารณาคุมกำเนิดไปก่อน จน กว่าจะพร้อมทั้งครอบครัวและสุขภาพมารดา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ

วิธีคุมกำเนิดหลังแท้งควรทำอย่างไร? ควรเริ่มคุมกำเนิดเมื่อไหร่?

กรณียังไม่รีบที่จะมีบุตร สามารถเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดได้ทุกอย่าง เพียงแต่ต้องเริ่มคุม กำเนิดเร็วกว่าการคลอดทารกปกติ

ทั้งนี้ โดยทั่วไป แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจหลังแท้งประทาน 2 สัปดาห์ และแนะนำให้คุมกำเนิดเลย เนื่องจากสตรีกลุ่มนี้จะมีการตกไข่ที่ทำให้สามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่งสามารถเกิดได้อย่างรวดเร็วภายในประมาณ 2 สัปดาห์หลังแท้ง

เมื่อเคยแท้งมาแล้ว ตั้งครรภ์ในครั้งต่อไปจะแท้งอีกหรือไม่?

สตรีทุกคนมีโอกาส

  • แท้ง 1 ครั้งได้ประมาณ 10-15% ซึ่งส่วนมากเกิดจากความผิดปกติของทารก
  • ส่วนโอกาสที่จะแท้ง 2 ครั้ง ติดต่อกันมีได้ประมาณ 2 %
  • และแท้งติดต่อกัน 3 ครั้งประมาณ 0.3% โดยหากแท้งติดต่อกัน 3 ครั้ง เรียกว่า แท้งเป็นอาจิณ (Recurrent pregnancy loss) ซึ่งกรณีนี้ ต้องได้รับการสืบค้นหาสาเหตุอย่างจริงจังจากแพทย์ เพื่อการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม

มีวิธีป้องกันภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์หรือไม่?

วิธีป้องกันภาวะเลือดออกช่วงครึ่งแรกของตั้งครรภ์ ซึ่งคือวิธีป้องกันการแท้ง คือ

  • รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง
  • รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วน ในทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกิน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง การออกกำลังกาย)
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง โรคติดต่อทางเพศ สัมพันธ์)
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะ หรือ สารพิษ
  • รักษาโรคประจำตัวโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหลอดเลือดผิดปกติ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น โรค เอสแอลอี)
  • ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/795085-overview#showall [2019,June29]
  2. https://www.emedicinehealth.com/pregnancy_bleeding/article_em.htm [2019,June29]
  3. https://www.uptodate.com/contents/overview-of-the-etiology-and-evaluation-of-vaginal-bleeding-in-pregnant-women [2019,June29]