ตกขาว (Leucorrhea)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ตกขาวคืออะไร?ตกขาวที่ปกติเป็นอย่างไร?

ตกขาว (Leucorrhea หรือ Leukorrhea) คือ สิ่งคัดหลั่งจากอวัยวะในอุ้งเชิงกรานไม่ว่าจะเป็นจากช่องคลอด ปากมดลูก หรือแม้กระทั่งจากตัวมดลูกเอง ทั้งนี้ ตกขาว อาจเป็นอาการปกติหรืออาการผิดปกติก็ได้

  • ลักษณะของตกขาวที่ปกติคือ
    • ตกขาวจะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงตามรอบประจำเดือนโดยขึ้นกับปริมาณของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตโรน (Progesterone) จะมีลักษณะใส ไม่มีสี หรือเป็นสีขาว ไม่มีกลิ่นเหม็น ปริมาณไม่มากและไม่ก่ออาการคัน
  • ตกขาวปกติ จะพบมากได้ในช่วงกลางของรอบประจำเดือน หรือขณะตั้งครรภ์ และจะมีการหลั่งของเมือกในช่องคลอดมากขึ้นขณะมีเพศสัมพันธ์

ตกขาวที่ผิดปกติเป็นอย่างไร?

ตกขาว

ลักษณะของตกขาวที่ผิดปกติจะดูได้จาก

1. ปริมาณที่มากขึ้น จนทำให้บางครั้งต้องใช้ผ้าอนามัย

2. ลักษณะของสีที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น

  • จากใสไม่มีสีหรือสีขาว เป็นสีเหลือง สีเขียว หรือเป็นลักษณะข้นจับตัวเป็นก้อน หรือมีลักษณะเป็นฟอง หรือเป็นมูกเลือด

3. มีกลิ่นที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น

  • มีกลิ่นเหม็นเหมือนปลาเน่า หรือมีกลิ่นคาวมาก

4. มีอาการผิดปกติอื่นๆร่วมด้วยเช่น

  • มีอาการคันอวัยวะเพศ หรือ
  • บางครั้งมีอาการปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย หรือ
  • มีแผลในบริเวณอวัยวะเพศ

สาเหตุตกขาวเกิดจากอะไรได้บ้าง?

สาเหตุของตกขาวผิดปกติ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในช่องคลอด และมักเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งที่พบบ่อยเกิดได้จาก

ก. โรคเชื้อรา หรือโรคเชื้อราในช่องคลอด: โดยลักษณะที่เกิดขึ้นจะมีตกขาวที่ผิดปกติไปจากปกติ คือ

  • สีเป็นสีขาวข้นคล้ายคราบนม
  • มีอาการคันในช่องคลอด บางครั้งคันที่บริเวณแคมเล็กและแคมใหญ่ (อวัยวะเพศภายนอก)ร่วมด้วย
  • ปัสสาวะแสบขัดบางครั้ง
  • ตกขาวสาเหตุนี้มักไม่มีกลิ่นเหม็น

ทั้งนี้การติดเชื้อราฯดังกล่าว จะเกิดขึ้นบ่อยในคนที่

  • ตั้งครรภ์
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เพิ่งใช้ยาปฏิชีวนะ
  • ใช้ยากลุ่ม สเตียรอยด์
  • ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคในร่างกายต่ำ
  • ติดเชื้อเอดส์ (โรคเอดส์)

ข. เชื้อแบคทีเรีย: ลักษณะเช่น

  • ปริมาณตกขาวจะมากขึ้น
  • มีกลิ่นเหม็นเหมือนปลาเน่า
  • บางคนตกขาวมีกลิ่นหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  • ลักษณะตกขาวจะเป็นสีขาวขุ่น หรือออกเหลือง อาจออกสีน้ำตาล ขึ้นกับชนิดของเชื้อแบคทีเรีย
  • มักเกิดในสตรีที่มักสวนล้างช่องคลอด หรือ
  • กินยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

ค. เชื้อโปรโตซัวหรือสัตว์เซลล์เดียว (Protozoa/ โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว): ตกขาวจากสาเหตุนี้ จะลักษณะ

  • มีปริมาณมากขึ้น สีเขียว มีฟอง ซึ่งลักษณะของฟองที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะเฉพาะของการติดเชื้อชนิดนี้
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
  • ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบขัดมากเมื่อเทียบกับการติดเชื้อรา
  • การติดเชื้อโปรตัวซัวดังกล่าวจะสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นสามีหรือคู่นอนต้องรับการรักษาด้วยเสมอ

* อนึ่ง นอกจากการติดเชื้อแล้ว ตกขาวผิดปกติ ยังอาจเกิดจากโรคมะเร็งได้ซึ่งพบได้น้อยกว่าจากการติดเชื้อ โรคมะเร็งที่มักก่ออาการตกขาวผิดปกติคือ โรคมะเร็งปากมดลูก

เมื่อพบตกขาวผิดปกติจะทำอย่างไร? รักษาอย่างไร?

ในกรณีที่พบว่าหรือสงสัยว่าตกขาวผิดปกติ ควรไปพบสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจรับการรักษาต่อไป ไม่ควรรักษาตนเอง เพราะมีสาเหตุได้หลากหลาย รวมทั้งมักเกิดจากการติดเชื้อทางเพศ สัมพันธ์ที่แพทย์ต้องรักษาทั้งผู้ป่วยและคู่นอนควบคู่กันไป ซึ่งการซื้อยากินเองอาจเป็นสาเหตุให้กลายเป็นการติดเชื้อเรื้อรังจากเชื้อดื้อยา นอกจากนั้น สาเหตุตกขาวยังอาจเกิดจากโรคมะ เร็งปากมดลูกได้อีกด้วย การพบแพทย์ตั้งแต่แรกจะช่วยการวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะให้ผลการ รักษาที่ดีกว่าพบโรคในระยะรุนแรงที่มีอาการมากแล้ว

รักษาตกขาวหายแล้วจะเกิดซ้ำได้ไหม?

เมื่อตกขาวเกิดจากการติดเชื้อ ถึงแม้จะได้รับการรักษาหายแล้ว ถ้ากลับไปติดเชื้ออีกก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก ส่วนเมื่อเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ผลการรักษามักขึ้นกับระยะของโรคมะเร็ง

มีวิธีป้องกันตกขาวกลับเป็นซ้ำอย่างไร?

การป้องกันการกลับเป็นซ้ำของตกขาวจากการติดเชื้อนั้นมีวิธีการง่ายๆ ดังนี้

1. ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือใส่ชุดอนามัยที่ไม่แห้งดี

2. ไม่ทำการสวนล้างช่องคลอด ล้างทำความสะอาดเพียงเฉพาะภายนอกเท่านั้น

3. หลังจากล้างทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ในการเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่เช็ดจากหลังมาหน้าเพราะอาจมีการปนเปื้อนของอุจจาระมาที่ช่องคลอดได้

4. หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน

5. เพื่อความปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ควรให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง

6. เลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น

*อนึ่ง การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้จากในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ‘โรคมะเร็งปากมดลูก’

บรรณานุกรม

1. Centers for Disease Control and Prevention. Sexually Transmitted Diseases Treatment Guidelines 2006. MMWR 2006.
2. ธีระ ทองสง, จตุพล ศรีสมบูรณ์, ธีระพร วุฒยวนิช, ประภาพร สู่ประเสริฐ, สายพิณ พงษธา. Lower genital tract infections. นรีเวชวิทยา, 3rd edition. พี.บี.ฟอเรน บุ๊คส์ เซนเตอร์, p201-38.