ด็อกเซปิน (Doxepin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาด็อกเซปิน(Doxepin) เป็นยาประเภท Tricyclic and tetracyclic antidepressants (TCAs) ถูกนำมาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า บรรเทาอาการวิตกกังวล และอาการนอนไม่หลับ รวมไปถึงลมพิษ และยานี้มีใช้แพร่หลายทั่วโลก รูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยารับประทาน ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยาด็อกเซปินสามารถแสดงออกมาได้ในหลายลักษณะ เช่น มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดเก็บกลับเข้าสู่สมองของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Serotonin และ norepinephine นอกจากนี้ยังแสดงฤทธ์เป็นทั้ง Serotonin antagonist, Adrenergic antagonist(สารต้าน Adrenergic receptor), Muscarinic antagonist, Dopamine antagonist, รวมถึง Histamine receptor antagonist, อีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่สามารถใช้ยานี้ รักษาอาการทางจิตประสาท และอาการแพ้ทางผิวหนังได้

จากข้อมูลทางเภสัชจลศาสตร์(Phamacokinetics, การกระจายตัวของยาเมื่อเข้าสู่กระแสเลือด/ร่างกาย) พบว่า ตัวยาด็อกเซปินเมื่อถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้ากระแสเลือด จะเกิดการรวมกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 76% ตัวยาจะถูกทำลายโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 8 – 24 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

สำหรับข้อจำกัดการใช้ยาด็อกเซปินบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนที่จะใช้ยาชนิดนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยาในกลุ่ม TCAs
  • จำกัดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI เช่น Furazolidone, Phenelzine
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเคยทำร้ายตนเอง

นอกจากนี้ ยาอื่นๆบางประเภทที่ผู้ป่วยมีใช้อยู่ก่อน อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเมื่อใช้ร่วมกับยาด็อกเซปิน ตัวอย่างของยาที่สามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาด็อกเซปิน เช่นยา Fluconazole, Terbinafine, Carbamazepine, Cimetidine, Mibefradil, Phenothiazines, กลุ่มยา SSRIs,

ยาด็อกเซปินยังมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ตาพร่า หากมีอาการต่างๆเหล่านี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆรวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และในผู้ป่วยบางรายที่ได้รับยาด็อกเซปิน สามารถพบอาการปวดตา ตามีอาการบวมแดง กรณีนี้ควรนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษา ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ และการเกิดผื่นแพ้แสงแดด ก็เป็นอีกกรณีที่สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยตัวยานี้สามารถกระตุ้นให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดมากขึ้น อาจรวมไปถึงแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าด้วย ซึ่งป้องกันโดยใช้ครีมกันแดดทาผิวหนังป้องกันแสงแดดเมื่อต้องออกไปอยู่ในที่กลางแจ้ง

การใช้ยาด็อกเซปินไปแล้ว 7 – 10 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง ผู้ป่วยต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

อนึ่ง การซื้อหายาด็อกเซปินมารับประทานเอง อาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้บริโภค ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ด็อกเซปินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ด็อกเซปิน

ยาด็อกเซปินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาและบรรเทาอาการซึมเศร้า
  • บำบัดอาการวิตกกังวล
  • ใช้เป็นยานอนหลับ
  • ใช้บรรเทาอาการลมพิษ

ด็อกเซปินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาด็อกเซปินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดเก็บกลับของสารสื่อประสาทในสมอง เช่น Serotonin ส่งผลให้สารสื่อประสาทนั้นๆ มีปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้มีการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทนั้นๆใหม่ และยาด็อกเซปินยังแสดงฤทธิ์เป็น Histamine receptor antagonist ทำให้ระงับอาการแพ้ทางผิวหนังได้ด้วย จากกลไกที่กล่าวมา จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ด็อกเซปินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาด็อกเซปินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 10,25, 50,75 และ100 มิลลิกรัม/แคปซูล

ด็อกเซปินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาด็อกเซปิน มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับบำบัดอาการวิตกกังวล และซึมเศร้า:

  • กรณีมีอาการน้อย: ผู้ใหญ่, รับประทาน 25 มิลลิกรัม/วัน อาจแบ่งรับประทานเป็น 1 – 3 ครั้ง/วัน ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 25 – 50 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 1 – 3 ครั้ง/วัน
  • กรณีมีอาการปานกลาง: ผู้ใหญ่, รับประทาน 75 มิลลิกรัม/วัน อาจแบ่งรับประทานเป็น 1 – 3 ครั้ง/วัน ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 75 – 150 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 1 – 3 ครั้ง/วัน
  • กรณีมีอาการรุนแรง: ผู้ใหญ่, รับประทาน 150 มิลลิกรัม/วัน อาจแบ่งรับประทานเป็น 1 – 3 ครั้ง/วัน ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 150 – 300 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 1 – 3 ครั้ง/วัน

*อนึ่ง การรับประทานยานี้แต่ละครั้ง (มื้อ) ต้องไม่เกิน 150 มิลลิกรัม

ข. สำหรับบำบัดอาการลมพิษ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง

ค.สำหรับใช้เป็นยานอนหลับ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 6 มิลลิกรัม/วัน ก่อนนอน 30 นาที แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเริ่มต้นด้วยขนาด 3 มิลลิกรัม ก่อนนอน หรือบางครั้ง เพื่อลดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยานี้ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานภายใน 3 ชั่วโมง หลังอาหารเย็น
  • ผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป): รับประทานยานี้ครั้งละ 3 มิลลิกรัม/วัน ก่อนเข้านอนและแพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 6 มิลลิกรัมได้ โดยต้องดูการตอบสนองของผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลัง อาหารก็ได้
  • เด็ก: ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก ด้วยมีผลข้างเคียงที่กระตุ้นความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้เอง
  • การใช้ยานี้เป็นยานอนหลับ อาจทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้นาน 7 – 8 ชั่วโมง/คืน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาด็อกเซปิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคต้อหิน ปัสสาวะขัด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอื่นๆอะไรอยู่ เพราะยาด็อกเซปิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาด็อกเซปิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาด็อกเซปิน ตรงเวลา

ด็อกเซปินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาด็อกเซปินอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน เห็นภาพหลอน มีภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง/ กล้ามเนื้อกระตุกรัว มีอาการเสียงแหบ/ไม่มีเสียง หูอื้อ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะ Hyperprolactinemia(มีน้ำนมไหลผิดปกติ) และภาวะ Hyponatremia(ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ) มีอารมณ์ทางเพศสูง หรือไม่ก็น้อยลง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดโลหิตจางด้วยมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก เกิดภาวะ Thrombocytopenia(ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ)
  • ผลต่อตับ: เช่น มีการหยุดหลั่ง/สร้างน้ำดีในตับ

*กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด อาจพบอาการดังต่อไปนี้ เช่น มีอาการง่วงนอน หมดสติ รูม่านตาขยาย มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก อุณหภูมิร่างกายต่ำ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวสั่น ชีพจรเต้นอ่อน/เต้นเบา ซึ่งหากบริโภคยานี้แล้ว เกิดอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ด็อกเซปินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาด็อกเซปิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองด้วยเสี่ยงต่อภาวะยาเกินขนาด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยทางจิตที่มีอาการคลุ้มคลั่ง ผู้ป่วยด้วยโรคต้อหิน
  • การใช้กับผู้สูงอายุ อาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มวัยอื่น
  • ควรเริ่มใช้ยานี้ที่ขนาดต่ำๆก่อน และแพทย์จะค่อยๆเพิ่มขนาดรับประทานตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยานี้
  • ไม่ควรหยุดการใช้ยานี้โดยทันที ด้วยอาจก่อให้เกิดการเสี่ยงต่อภาวะถอนยา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาด็อกเซปินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ด็อกเซปินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาด็อกเซปินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาด็อกเซปินร่วมกับยา Methylphenidate ด้วยอาจทำให้ระดับยาด็อกเซปินในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น จนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาด็อกเซปินเพิ่มมากขึ้น ตามมา
  • ห้ามรับประทานยาด็อกเซปินร่วมกับการดื่มสุรา ด้วยจะทำให้เกิดอาการ วิงเวียน และง่วงนอนมาก ตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาด็อกเซปินร่วมกับยาPhenylephrine เพราะอาจส่งผลต่อความดันโลหิตต่ำหรือสูงผิดปกติตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาด็อกเซปินร่วมกับยา Hydroxyzine เพราะการใช้ยาร่วมกัน อาจส่งผลให้มีอาการ ตาพร่า ปากแห้ง วิงเวียน ลมแดด หน้าแดง เหงื่อออกน้อย ปัสสาวะขัด ชีพจรเต้นผิดปกติ และเกิดปัญหาต่อระบบความทรงจำตามมา

ควรเก็บรักษาด็อกเซปินอย่างไร?

ควรเก็บยาด็อกเซปินในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ด็อกเซปินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาด็อกเซปินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Sinequan (ซินีควาน) Pfizer

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Sinquan, Silenor, Apo-Doxepin, Colian, Dospin

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/doxepin.html [2016,Sept10]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Doxepin [2016,Sept10]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/doxepin/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept10]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/sinequan/ [2016,Sept10]
  5. https://www.drugs.com/cdi/doxepin.html [2016,Sept10]