ด็อกคูเสท โซเดียม (Docusate sodium)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาด็อกคูเสท โซเดียม(Docusate sodium ชื่ออื่นคือ Docusate salts หรือ Dioctyl sulfosuccinate)เป็นยาระบาย(ยาแก้ท้องผูก)ที่ใช้บำบัดรักษาอาการท้องผูก จัดเป็นยาทางเลือกที่ดีสำหรับเด็กที่มีอาการท้องผูกหรือขับถ่ายลำบากด้วยมีอุจจาระแข็ง รูปแบบผลิตภัณฑ์ยานี้จะเป็นทั้งยารับประทานและยาที่สวนเข้าทางทวารหนัก หลังจากได้รับยาด็อกคูเสท โซเดียมแล้ว ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ช่วยให้ระบายได้ดีขึ้นภายใน 12 – 72 ชั่วโมง ยาด็อกคูเสท โซเดียมสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด และผ่านเข้าไปในน้ำนมของมารดาได้

ด้วยยาด็อกคูเสท โซเดียม อยู่ในรูปของสารประกอบประเภทเกลือ จึงมีกลไกดึงน้ำจากลำไส้เข้าสู่เนื้ออุจจาระจนทำให้อุจจาระนิ่มตัวลง ทำให้ง่ายต่อการขับถ่ายในที่สุด ยาด็อกคูเสท โซเดียมยังถูกนำไปเป็นยาหยอดหูใช้ละลายขี้หูอีกด้วย โดยถูกเตรียมเป็นสารละลายขนาด 0.5%

สำหรับประเทศไทยจะพบเห็นการใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียมเป็นทั้งยาระบายและยาละลายขี้หู และองค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาด็อกคูเสท โซเดียมเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย

ข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนที่จะนำยาด็อกคูเสท โซเดียมไปใช้บำบัดอาการท้องผูกหรือใช้เป็นยาละลายขี้หูมีดังต่อไปนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาด็อกคูเสท โซเดียม
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีอาการปวดท้องที่ยังไม่ทราบสาเหตุ รวมถึงผู้ที่อยู่ในภาวะคลื่นไส้ อาเจียน หรือป่วยด้วยไส้ติ่งอักเสบ
  • ห้ามใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียมร่วมกับยาระบายประเภทอื่น โดยไม่ได้รับคำสั่งจาก แพทย์

ในทางคลินิก สามารถใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียมได้ทั้งกับผู้ใหญ่ และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป การรับประทานยานี้(กรณีใช้เป็นยาระบาย) ทำได้ทั้งก่อนหรือพร้อมอาหาร โดยต้องดื่มน้ำร่วมด้วยประมาณ 240 มิลลิลิตรเป็นอย่างต่ำ แพทย์อาจแนะนำให้ดื่มน้ำตามมากเป็นพิเศษหลังกินยานี้ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวและขับถ่ายได้เร็วขึ้น

การใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียมเป็นเวลานานและบ่อยจนเกินไป อาจทำให้ระบบการขับถ่ายที่เป็นธรรมชาติของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดอาการท้องผูกมากขึ้น จึงควรใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ยาด็อกคูเสท โซเดียมอาจทำให้ผู้ที่รับประทานยานี้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อย่างเช่น รู้สึกรสขมระหว่างรับประทาน ท้องอืด เป็นตะคริว ท้องเสีย มีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้มาก ระคายเคืองบริเวณทางทวารหนัก ดังนั้น หลังการใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียม ควรต้องสังเกตว่า อุจจาระมีเลือดปนมากับอุจจาระด้วยหรือไม่

อาการของผู้ที่ได้รับด็อกคูเสท โซเดียมเกินขนาดอาจสังเกตได้จาก 2 อาการหลัก คือ มีภาวะท้องเสียอย่างรุนแรง หรือเกิดตะคริวที่บริเวณหน้าท้อง

อนึ่ง ต้องระวังมิให้ตัวยาด็อกคูเสท โซเดียมกระเด็น เข้าตา เข้ารูจมูก หรือสัมผัสกับผิวหนัง ด้วยจะก่อให้เกิดการอักเสบระคายเคืองมากยิ่งขึ้น

กรณีที่มีข้อซักถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาด็อกคูเสท โซเดียม ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

ด็อกคูเสท โซเดียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ด็อกคูเสทโซเดียม

ยาด็อกคูเสท โซเดียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • ใช้เป็นยาระบายบำบัดอาการท้องผูก กรณีใช้เป็นยารับประทาน หรือสวนทวารหนัก
  • ใช้เป็นยาละลายขี้หูกรณีใช้เป็นยาหยอดหู

ด็อกคูเสท โซเดียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาด็อกคูเสท โซเดียมในกรณีเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกคือ ตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นจะกระจายตัวเข้าไปในถุงน้ำดี รวมถึงเข้าสู่น้ำนมของมารดาได้ ตัวยาด็อกคูเสทเป็นสารประเภทลดแรงตึงผิว (Surfactant properties,การซึมผ่านผิวของสาร/สิ่งต่างๆ) โดยคุณสมบัติดังกล่าว จึงทำให้น้ำในลำไส้แทรกซึมเข้าสู่เนื้ออุจจาระ ทำให้อุจจาระนิ่มตัว และสะดวกต่อการขับถ่าย

สำหรับกลไกของยาด็อกคูเสท โซเดียมกรณีเป็นยาหยอดหูเพื่อละลายขี้หู โดยจะใช้ยาหยอดหูด็อกคูเสทขนาดความเข้มข้น 0.5% หยอดหู ซึ่งส่งผลให้ขี้หูนิ่มและอ่อนตัวลง ทำให้ง่ายต่อการหลุดร่อนออกจากรูหู

ด็อกคูเสท โซเดียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทย ยาด็อกคูเสท โซเดียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลนิ่มชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มียาอื่นเป็นองค์ประกอบ เช่น Bisacodyl 5 มิลลิกรัม+ Dioctyl sodium sulfosuccinate 15 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัม/ 15 มิลลิลิตร , 100 มิลลิกรัม/ 30 มิลลิลิตร, 10 มิลลิกรัม/ มิลลิลิตร
  • ยาหยอดหูขนาดความเข้มข้น 0.5%

ด็อกคูเสท โซเดียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาด็อกคูเสท โซเดียมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับใช้เป็นยาระบายบำบัดอาการท้องผูก:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทาน 50 – 300 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 1-4 ครั้งตามแพทย์สั่ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: การใช้ยานี้ และขนาดยา อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง ควรรับประทานยานี้ ช่วงท้องว่าง คือประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรือ ประมาณ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร

ข.สำหรับใช้เป็นยาละลายขี้หู:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: หยดยาหยอดหูด็อกคูเสท โซเดียมขนาดความเข้มข้น 0.5% ลงในหูข้างที่มีขี้หูอุดตัน 2-3 หยด หรือตามคำแนะนำของแพทย์ การหยอดหูไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาด็อกคูเสท โซเดียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น ทางเดินอาหารอุดตัน/ลำไส้อุดตัน ลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาด็อกคูเสท โซเดียม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาด็อกคูเสท โซเดียม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

การลืมรับประทานยาด็อกคูเสท โซเดียมอาจทำให้ประสิทธิภาพของการระบายอุจจาระด้อยลงไป เพื่อประสิทธิผลของการรักษา จึงควรรับประทานยานี้ตรงเวลา

ด็อกคูเสท โซเดียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาด็อกคูเสท โซเดียมกรณีใช้เป็นยาระบาย สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น เกิดอาการ ท้องเสีย เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ และผื่นคัน

ผลข้างเคียงของยานี้ กรณีใช้เป็นยาหยอดหู เช่น เกิดการระคายเคืองในรูหู

มีข้อควรระวังการใช้ด็อกคูเสท โซเดียมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียมแบบรับประทานกับผู้ที่มีอาการปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ที่กำลังคลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยด้วยภาวะลำไส้อุดตัน
  • ห้ามใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียมชนิดหยอดหูกับผู้ที่มีแก้วหูทะลุ หรือ หูอักเสบ
  • เพื่อประโยชน์สูงสุดของการใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียม ควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • หากพบอาการปวดทวารหนัก หรือมีเลือดออกขณะขับถ่ายอุจจาระ ให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • การใช้ยานี้เพื่อเป็นยาระบายนานเกินไป อาจทำให้การขับถ่ายที่เป็นไปตามธรรมชาติผิดปกติไป เช่น ท้องผูกรุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันภาวะนี้ ควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้(กรณีเป็นยาระบาย)ร่วมกับยาระบายประเภท Mineral oil ยกเว้นจะมีคำสั่งจากแพทย์
  • มาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาด็อกคูเสท โซเดียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ด็อกคูเสท โซเดียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาด็อกคูเสท โซเดียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียมชนิดรับประทานร่วมกับยา Mineral oil อาจทำให้ร่างกายดูดซึมยา Mineral oil ได้มากขึ้น จนอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ตามมา เช่น ทำให้ระบบกระตุ้นการขับถ่ายตามธรรมชาติด้อยประสิทธิภาพลงไป อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และเป็นตะคริว เพื่อเป็นการป้องกันภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียมชนิดรับประทานร่วมกับยา Aspirin อาจทำให้เพิ่มอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้จากยา Aspirin มากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

อนึ่ง กรณีใช้ยาด็อกคูเสท โซเดียม เป็นยาหยอดหู เนื่องจากเป็นยาใช้ภายนอก และใช้เฉพาะที่ จึงยังไม่มีรายงานเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาด็อกคูเสท โซเดียมอย่างไร?

ควรเก็บ ยาด็อกคูเสท โซเดียม ที่อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ด็อกคูเสท โซเดียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาด็อกคูเสท โซเดียม ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Chinta-lax (จินตา แล็กซ์)Chinta
Dewax (เดแวกซ์)Ranbaxy
T.Man Lax (ที.แมน แล็กซ์)T.Man
Waxol (แว็กซ์ ซอล)Norgine Pharma France

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Correctol, Colace, Dulcolax, Phillips Liquid-Gels, Swift

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Docusate#Mechanism_of_action [2016,Dec10]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/docusate%20sodium/?type=brief&mtype=generic [2016,Dec10]
  3. https://www.drugs.com/dosage/docusate.html [2016,Dec10]
  4. http://www.pharmer.org/images/domestic/docusate-surfak [2016,Dec10]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/docusate-index.html?filter=2&generic_only= [2016,Dec10]