ดูแลป้องกันฟัน ด้วยทันตาภิบาล (ตอนที่ 1)

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการสำรวจบุคลากรของ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งมีอยู่ 9,750 แห่งทั่วประเทศ สธ. พบว่า มีความขาดแคลน ทันตาภิบาล ซึ่งทำหน้าที่ในการดูแล ส่งเสริมสุขภาพช่องปากและฟัน มากกว่าร้อยละ 80

อันที่จริง ทันตาภิบาลที่ปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน มีเพียง 1,500 แห่ง หรือไม่ถึงร้อยละ 20 ด้วยซ้ำ ส่วนที่เหลือประชาชนต้องเดินทางเองไปใช้บริการที่โรงพยาบาลชุมชน [โรงพยาบาลอำเภอเดิม ที่ได้รับกการยกระดับหลังจากที่มีการเพิ่มจำนวนเตียง] ประชาชนดังกล่าวอยู่ในชนบทประมาณ 50 ล้านคน

ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2555 สธ. จึงมีนโยบายผลิตทันตาภิบาล เพื่อปฏิบัติงานใน รพ.สต.เป็นกรณีเร่งด่วน จำนวน 3,200 คน ระหว่างปี พ.ศ.2555 – 2556 โดยมีแผนที่จะผลิตทันตาภิบาลปีละ 1,600 คน และใช้งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ปีละ 30 ล้านบาท

คำภาษาอังกฤษที่น่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ทันตาภิบาล” ในภาษาไทยมากที่สุด คือคำว่า “Dental auxiliary” ซึ่งเป็นคำรวมหน้าที่ของทีมงานที่ให้การสนับสนุนทันตแพทย์ ในการบำบัดรักษาฟัน อันประกอบด้วย (1) ทันตพยาบาล (2) นักทันตบำบัด (3) นักทันตสุขอนามัย และ (4) นักทันตกรรมเทคนิค

ทันตพยาบาล (Dental nurse) ช่วยทันตแพทย์ในการรักษาฟันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหยิบถือหรือส่งเครื่องมือทันตกรรม อาทิ เครื่องถ่าง (Retractor) เนื้อเยื่อ เครื่องดูดน้ำ (Suction) เพื่อช่วยให้ทันตแพทย์มองเห็นขณะปฏิบัติการ ผสมวัสดุฟัน ลงบันทึกรายละเอียด และดำเนินการฆ่าเชื้อ (Sterilization) เครื่องมือและอุปกรณ์ทำฟัน รวมทั้งการฟอกฟันให้ขาวด้วยเครื่องเลเซอร์

นักทันตกรรมบำบัด (Dental therapist) เชี่ยวชาญในการดูแลฟันของเด็ก และสุขอนามัยช่องปาก (Oral hygiene) กฎเกณฑ์ท้องถิ่นบางประเทศกำหนดให้นักทันตกรรมบำบัดต้องมีใบอนุญาต (License) ในการตรวจดูช่องปากเด็ก ให้ยาชาเฉพาะตำแหน่ง (Local anesthesia) ถ่ายภาพรังสี (Radiography) อุดฟัน (Sealing) ขูดหินปูน (Scaling) และทำความสะอาดฟันเด็ก รวมทั้งการฟื้นฟู (Restore) ฟัน ให้คืนสภาพเดิม

นักทันตสุขอนามัย (Dental hygienist) เชี่ยวชาญในการทันตกรรมป้องกัน โดยมุ่งเน้นเทคนิคในสุขอนามัยช่องปาก กฎเกณฑ์ท้องถิ่นบางประเทศกำหนดให้นักทันตสุขอนามัยต้องมีใบอนุญาตในการให้ยาชาเฉพาะตำแหน่ง ถ่ายภาพรังสี อุดฟัน ปรับรากฟันให้เรียบ (Root planning) และทำความสะอาดฟัน

นักทันตเทคนิค (Dental technician) เชี่ยวชาญในการประกอบเครื่องมือทันตกรรม เช่น ผลิตอวัยวะเทียม (Prosthesis) และฟันปลอม (Denture) ออก รวมทั้งงานฟื้นฟูสิ่งที่ยึดติด อาทิ ครอบฟัน (Crown) และสะพานฟัน (Bridge) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการสามารถนำอุปกรณ์ดังกล่าวใช้ในผู้ป่วยทันตกรรมได้

บทบาทแต่ละประเภทมักถูกจำกัดโดยกฎเกณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งช่วยกำหนดขอบเขตของการรักษาฟัน [ส่วนในประเทศไทย ยังไม่มีการแบ่งประเภทอย่างชัดเจน แต่มารวมอยู่ในคนคนเดียว คือทันตาภิบาล จนอาจกล่าวได้ว่าทันตาภิบาลเป็นผู้แบกรับภาระการแก้ปัญหาทันตสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท]

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ. วางแผนปี 55-56 ผลิตทันตาภิบาลได้ 3,200 คน หวังแก้ปัญหาขาดแคลนใน รพ.สต. http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000019513 [2012, Feb 14].
  2. Dental auxiliary. http://en.wikipedia.org/wiki/Dental_auxiliary [2012, Feb 14].