ดื้อยาแอนติไบโอติค (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

ดื้อยาแอนติไบโอติค

บางครั้ง โดยเฉพาะกรณีผู้สูงอายุอาจมีการอักเสบของลำไส้ใหญ่ (Colitis) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรง นอกจากนี้ ยา Penicillins ยา cephalosporins รวมถึงยาปฏิชีวนะบางชนิด อาจไปลดการทำงานของการกินยาคุมกำเนิด (Oral contraceptives) ดังนั้นจึงควรระวังไว้ด้วย

The International Journal of Obesity ได้เผยแพร่งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จาก NY School of Medicine แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ว่า เด็กที่ใช้ยาปฏิชีวนะจะมีความเสี่ยงสูงต่อการมีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน

และเนื่องจากยาปฏิชีวนะบางชนิดจะไม่เหมาะกับคนบางโรค หรือกับหญิงมีครรภ์/หญิงที่กำลังให้นมบุตร หรือมีปฏิกริยา (Interact) เมื่อใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นและแอลกอฮอล์ ดังนั้นจึงควรใช้ปฏิชีวนะตามคำสั่งแพทย์ ไม่ควรไปใช้ยาของคนอื่น

สำหรับการดื้อยาปฏิชีวนะ (Antibiotic resistance) สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เพราะแบคทีเรียสามารถกลายพันธุ์และดื้อยาปฏิชีวนะบางชนิดได้ ซึ่งมักเกิดในคนที่กินยาไม่ครบคอร์สหรือเชื้อแบคทีเรียยังคงหลงเหลืออยู่และพัฒนาเป็นการดื้อยาได้ ดังนั้นจึงควรกินยาให้ครบคอร์สแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม

การใช้ยาปฏิชีวนะที่พร่ำเพรื่อ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยก็ใช้ยาปฏิชีวนะแล้ว เป็นสาเหตุทำให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะได้ จนทำให้เกิด “ซุปเปอร์บั๊ก” (Superbug) ซึ่งเป็นชื่อเรียกแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะส่วนใหญ่ เช่น

  • Meticillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA)
  • Clostridium difficile (C. diff)
  • Carbapenemase-producing Enterobacteriaceae (CPE)
  • แบคทีเรียที่ทำให้เกิดวัณโรคดื้อยา Multi-drug-resistant tuberculosis (MDR-TB)

โดยลักษณะการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ถูกต้อง เช่น

  • ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่ง
  • ไม่ใช้ยาตามช่วงเวลาที่กำหนด ข้ามครั้งของการใช้ยา (Skipping doses)
  • ใช้ยาปฏิชีวนะไม่ครบคอร์ส
  • ใช้ยาปฏิชีวนะของคนอื่น

ส่วนลักษณะการจ่ายยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม เช่น

  • ใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น
  • ใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ในวงกว้างโดยไม่เหมาะสม
  • เลือกชนิดของยาปฏิชีวนะไม่ถูกกับโรค
  • ใช้ยาไม่ถูกตามกำหนดระยะเวลา

ทั้งนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง ครบคอร์ส ตรงเวลา จะช่วยลดภาวะการดื้อยายาปฏิชีวนะได้

แหล่งข้อมูล

1. Antibiotics. http://www.nhs.uk/conditions/Antibiotics-penicillins/Pages/Introduction.aspx[2015, December 10].

2. The Antibiotic Awareness Campaign. http://www.nhs.uk/nhsengland/arc/pages/aboutarc.aspx [2015, December 10].

3. Antibiotics: How Do Antibiotics Work? http://www.medicalnewstoday.com/articles/10278.php[2015, December 10].