ดื่มเหล้าไม่ลดละ มะเร็งจะถามหา (ตอนที่ 2)

ผู้อำนวยการแผนกสันดาปในร่างกาย (Metabolism) ณ สถาบันแห่งชาติโรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcohol Abuse and Alcoholism) ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "โรคมะเร็งมิได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากการได้รับแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลายาวนาน ที่สะสมจนเกิดผลเสียหาย [ต่อร่างกาย]" แต่ก็มิได้หมายความว่า การดื่มเหล้าแต่ละครั้ง จะทำให้ผู้ดื่มเป็นโรคมะเร็ง หรือมิได้หมายความว่า ทุกๆ คนที่เป็นโรคมะเร็งจะต้องดื่มเหล้ามาก่อน

การวิเคราะห์จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2549 พบว่า 3.5% ของการตายจากโรคมะเร็งทั่วโลก (ปีละ 230,000 ราย) มีสาเหตุมาจากเหล้า โดยที่ผู้เชี่ยวชาญ [โรคมะเร็ง] ประมาณการกันว่า 90% ของผู้ตายที่เป็นชาย สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเขาดื่มเหล้าไม่เกินวันละ 2 แก้ว (Drink) ในขณะที่ 50% ของผู้ตายที่เป็นหญิง สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเธอดื่มเหล้าไม่เกินวันละ 1 แก้ว

รองผู้อำนวยการศูนย์โรคมะเร็ง Siteman ณ โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันที่เซนต์หลุย กล่าวว่่า "ถ้าเช่นนั้น คุณอาจถามว่า แล้วดื่มเหล้าทำไม?" ก็เพราะการดื่มเหล้าพอประมาณช่วยลดความเสี่ยงของหัวใจทำงานติดขัดกะทันหัน หรืออาการหัวใจล้ม (Heart attack) กล่าวคือช่วยการไหลเวียนให้คล่องขึ้นของโลหิตแดงในหลอดเลือดหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อหัวใจ เพิ่มคลอเลสเตอรอลชนิดดี และลดการเกิดลิ่มเลือด

การศึกษาหลายครั้งพบว่า การดื่มเหล้าวันละแก้วสองแก้ว จะลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคลมปัจจุบัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stoke) และอีกการศึกษาหนึ่งพบว่า ชายที่ดื่มเหล้าสัปดาห์ละ 8 ถึง 14 แก้ว จะลดความเสี่ยงของหัวใจวาย (Heart failure) ลงได้ 59% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มิได้ดื่มเหล้า

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การดื่มเหล้าอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ จะให้โทษมากกว่าให้คุณ กล่าวคือ จะเป็นสาเหตุของการทำลายหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular damage) ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของการตกเลือดในสมอง (Hemorrhagic stroke) และนำไปสู่อันตรายของกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy)

นักวิจัยกล่าวว่า ผู้ดื่มเหล้าต่อเนื่องเป็นประจำบางคนที่สูบบุหรี่ด้วย จะได้รับผลกระทบเป็นทวีคูณ การศึกษาพบว่า โรคมะเร็งปอดมักเกิดจากการสูบบุหรี่ มิใช่จากการดื่มเหล้า แต่ผลการวิจัยที่นำเสนอต่อวิทยาลัยแพทย์โรคปอดแห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Chest Physicians) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากการวิเคราะห์ประวัติผู้ป่วย 126,293 ราย ณ โรงพยาบาล Kaiser Permanente ที่โอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย พบว่า ผู้ดื่มเหล้าวันละ 3 แก้วขึ้นไป จะมีความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งปอด 30% ถึง 40% ไม่ว่าจะมีประวัติการสูบบุหรี่มากน้อยเพียงใด

หัวหน้าแผนกปอดและวิกฤตบริบาล (Pulmonary and critical care) และหัวหน้าทีมวิจัยแห่งโรงพยาบาล Kaiser Permanente กล่าวว่า "ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่เคยสูบบุหรี่เลย เคยสูบบุหรี่บ้าง หรือเลิกสูบบุหรี่แล้ว หรือยังคงสูบบุหรี่อยู่ ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคมะเร็งปอด หากคุณเป็นผู้ดื่มเหล้าจัด"

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ไม่ควรดื่มเหล้าเด็ดขาด ได้แก่ สตรีมีครรภ์ หรือพยายามจะตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังฟื้นฟูจากการเลิกเหล้า ผู้ที่กินยาบางชนิดซึ่งแพทย์ห้ามกินร่วมกับเหล้า ผู้ที่กำลังจะขับรถ และผู้มีอายุต่ำกว่า 21 ปี

แหล่งข้อมูล:

  1. Raising the Chance of Some Cancers With Two Drinks a Day. http://online.wsj.com/article/SB10001424052970204528204577009741133297800.html [2011, November 4].