ดีดีที ตัวก่ออัลไซเมอร์ (ตอนที่ 2)

ดีดีที (Dichlorodiphenyltrichloroethane = DDT ) เป็นสารที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เป็นผลึก ไม่มีสี ไม่มีรส และเกือบจะไม่มีกลิ่น ใช้ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เป็นสารที่สลายตัวยาก คงตัวและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้แน่น ดีดีทีมีการผลิตออกมาในหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นสารละลาย สารเข้มข้น ผงแป้ง เม็ดเล็กๆ (Granules) ละอองพ่น (Aerosols) เทียนมีควัน (Smoke candles) และโลชั่น

ดีดีที ไม่ค่อยละลายในน้ำ แต่ละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic solvent) ไขมัน และน้ำมัน ดีดีทีไม่ใช่สารที่เกิดตามธรรมชาติแต่เป็นปฏิกริยาของคลอราล (Chloral) และ คลอโรเบนซีน (Chlorobenzene) โดยมีกรดซัลฟิวริก (Sulfuric acid) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กรดกำมะถัน” เป็นตัวเร่งปฎิกิริยา (Catalyst)

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493-2523 ดีดีทีได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางในเกษตรกรรม โดยทั่วโลกมีการใช้ดีดีทีมากกว่า 40,000 ตันในแต่ละปี และมีการคาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 ทั่วโลกมีการผลิตดีดีทีรวมปีละประมาณ 1.8 ล้านตัน

ในปี พ.ศ. 2505 นักชีววิทยาชาวอเมริกันชื่อ ราเชล คาร์สัน ได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Silent Spring บรรยายถึงผลกระทบของดีดีทีต่อสิ่งแวดล้อม การก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และทำให้สัตว์ป่าหลายชนิดมีจำนวนลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จนทำให้เกิดการศึกษาวิจัยสืบเนื่อง และรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ดีดีทีอย่างขนานใหญ่ในหลายประเทศ และเกิดอนุสัญญาสตอกโฮล์ม ห้ามการใช้ดีดีทีทั่วโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544

ในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีการห้ามใช้ดีดีที เช่น ฮังการีตั้งแต่ พ.ศ.2511 นอร์เวย์และสวีเดน พ.ศ.2513 เยอรมันและสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2515 สหรัฐราชอาณาจักร พ.ศ.2527 อย่างไรก็ดียังคงมีการใช้ดีดีทีอยู่ในประเทศอินเดีย (จากสถิติ มีการใช้มากที่สุดในโลก) เกาหลีเหนือ และที่อื่นๆ อีก

ดีดีทีเป็นสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Persistent organic pollutant = POP) ซึมลงสู่ดินและเป็นตะกอน (Sediments) ย่อยสลายได้ยากโดยแสง/สารเคมี/ชีวภาพ สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ไกลมาก ละลายน้ำได้น้อยมาก แต่ละลายได้ดีในไขมัน จึงทำให้มีการสะสมในไขมันของสิ่งมีชีวิต และสามารถถ่ายทอดได้ทางห่วงโซ่อาหาร

ดีดีทีเป็นพิษต่ออวัยวะของสิ่งมีชีวิต รวมถึงสัตว์น้ำ เช่น กุ้งน้ำจืดหรือกุ้งนาง (Crayfish) กุ้งทะเล (Sea shrimp) และปลาอีกหลายชนิด ดีดีทีที่แตกตัวเป็นดีดีอี (Dichlorodiphenyldichloroethylene = DDE) จะทำให้เปลือกไข่บางลงและเป็นผลให้ประชากรนกลดลงอย่างมากในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป เพราะทำให้ไข่แตกง่ายและตัวอ่อนตาย

นั่นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นกอินทรีใหญ่หัวสีขาว (Bald eagle) นกกระทุงสีน้ำตาล (Brown pelican) นกเหยี่ยวเพเรกริน (Peregrine falcon) และนกเหยี่ยวออสเปร (Osprey) จึงมีจำนวนลดลง อย่างไรก็ดีนกแต่ละชนิดจะมีความไวต่อสารดีดีอีที่แตกต่างกันไป

ดีดีทีจะมีผลต่อประสาทของสัตว์ เป็นเหตุให้สัตว์ต้องหนีอย่างทันทีทันใด เพราะทำให้เกิดการชักกระตุกของกล้ามเนื้อและตายในที่สุด ส่วนดีดีทีในคนอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น พิษทางพันธุกรรม (Genotoxicity) หรือ รบกวนการทํางานของต่อมไร้ท่อ (Endocrine disruption)

แหล่งข้อมูล:

  1. DDT. http://en.wikipedia.org/wiki/DDT [2014, February 23].