ดีซ่าน (Jaundice)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ดีช่าน (Jaundice) คือ อาการที่ ผิวหนัง เนื้อตัว ตาขาว และเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะเยื่อเมือก เช่น ในช่องปาก เกิดมีสีเหลืองผิดปกติ จากมีสารสีเหลืองในร่างกาย/ในเลือดที่เรียกว่า บิลิรูบิน(Bilirubin) สูงขึ้นผิดปกติ ซึ่งสารสีเหลืองเหล่านี้เข้าไปจับ/สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย โดยเห็นชัดที่ ตาขาว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และที่ผิวหนัง ดังนั้น ดีซ่าน จึงเป็น อาการ/ภาวะไม่ใช่โรค แต่บ่อยครั้งเรียกว่า ‘โรคดีซ่าน’

อาการดีซ่าน มักมีสาเหตุเกิดจากโรคตับ และ/หรือ โรคระบบทางเดินน้ำดี แต่สามารถพบเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้

ดีซ่าน เป็นอาการพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

อนึ่ง ชื่ออื่นของดีซ่าน/Jaundice คือ ตัวเหลืองตาเหลื่อง หรือ Icterus หรือ Yellow skin โดย Jaundice มาจากภาษาฝรั่งเศส แปลว่า เหลือง และ Icterus มาจากภาษากรีก แปลว่า เหลือง เช่นกัน

โรคดีซ่านมีกลไกการเกิดอย่างไร?

ดีซ่าน

ดีซ่านมีกลไกเกิดจาก มีปริมาณสารให้สีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ในเลือดสูงเกินปกติมาก ซึ่งสารบิลิรูบิน เป็นสารปลายทางจากการที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย โดยในภาวะปกติ เม็ดเลือดแดงที่ถูกทำลาย คือ เม็ดเลือดแดงที่แก่แล้ว ทั้งนี้เม็ดเลือดแดงปกติจะมีอายุประมาณ 120 วัน เมื่อเม็ดเลือดแดงที่อายุเกิน 120 วัน ผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อ/อวัยวะซึ่งทำหน้าที่ทำลายตัวแก่เม็ดเลือดแดง ซึ่งโดยทั่วไป คือ ม้าม แต่พบในตับ และในไขกระดูกได้ อวัยวะ/เนื้อเยื่อดังกล่าวเหล่านี้จะทำลายตัวแก่เม็ดเลือดแดง และให้เป็น ‘สารบิลิรูบิน’ และ เหล็ก โดยร่างกายจะนำเหล็กกลับไปใช้ในไขกระดูกเพื่อสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ แต่จะกำจัดสารบิลิรูบินออกจากร่างกายผ่านทางตับ

ในภาวะปกติ ในระยะแรก สารบิลิรูบินในกระแสโลหิต (เลือด) จะเป็น ‘สารบิลิรูบินชนิดไม่ละลายน้ำ (Unconjugated bilirubin)’ แต่เมื่อผ่านเข้าไปในตับ ตับจะสังเคราะห์ให้บิลิรูบินชนิดไม่ละลายน้ำนี้ เปลี่ยนเป็น ‘บิลิรูบินที่ละลายน้ำ (Conjugated bilirubin)’ และตับจะขับสารนี้ออกจากร่างกายโดยปนมากับน้ำดี (Bile) ที่ขับออกทางท่อน้ำดี ซึ่งมีทั้งท่อน้ำดีภายในตับ และท่อน้ำดีภายนอกตับ และนำมาเก็บไว้ในถุงน้ำดี

ซึ่งน้ำดี เป็นน้ำย่อยอาหารชนิดหนึ่งสร้างจากตับ เพื่อการย่อยอาหารในลำไส้เล็กโดยเฉพาะไขมัน

สารบิลิรูบินที่เกิดขึ้นจึงปะปนในกากอาหาร และผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ และถูกขับออกโดยปนมากับอุจจาระ สีเหลือง/สีน้ำตาลของอุจจาระจึงเป็นสีที่ได้จาก บิลิรูบิน

แต่เมื่อเกิดความผิดปกติจากการที่ในเลือดมีสารบิลิรูบินสูงมากกว่าปกติมาก สารบิลิรูบินที่มีปริมาณมากผิดปกตินี้ จะเข้าไปจับในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ ก่อให้เนื้อเยื่อฯเหล่านั้นเกิดมีสีเหลืองขึ้น เหลืองมากหรือน้อย ขึ้นกับปริมาณบิลิรูบินในเลือด

ซึ่งการมีสีเหลืองผิดปกติของเนื้อเยื่อฯต่างๆพร้อมกันทั่วร่างกาย เรียกว่า ‘โรค/อาการ/ภาวะดีซ่าน’ แต่ที่เราเห็นเป็นสีเหลืองได้ชัด คือ บริเวณผิวหนังทั่วตัว และในส่วนตาขาว จึงเรียกอาการนี้ว่า ‘อาการตัวและตาเหลือง’ หรือ ‘ดีซ่าน’ เพราะเกิดจากสารบิลิรูบินในน้ำดี ซ่าน หรือกระจายไปทั่วร่างกายนั่นเอง

โรคดีซ่านมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุที่ทำให้ในเลือดมีสารบิลิรูบินสูงขึ้น อาจสูงขึ้นเฉพาะชนิดไม่ละลายน้ำ หรือเฉพาะชนิดละลายน้ำ หรือ ทั้งสองชนิด ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ โดยสาเหตุของโรค/อาการดีซ่านที่พบบ่อย คือ

ก. สาเหตุที่พบบ่อยในเด็ก: ได้แก่

  • ในเด็กปกติแรกเกิด โดยเฉพาะเด็กคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะเหลืองไม่มาก ทั้งนี้เกิดเพราะตับของเด็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงยังมีสารบิลีรูบินคั่งในเลือดมาก เพราะตับกำจัดออกไม่ทัน ซึ่งอาการดีซ่านมักเกิดประมาณวันที่ 2-4 หลังคลอด และจะค่อยๆหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์
  • โรคทางเดินน้ำดีฝ่อตีบตันแต่กำเนิด (Biliary atresia) จึงส่งผลเกิดการคั่งของน้ำดีในตับ เพราะน้ำดีไม่สามารถไหลลงสู่ลำไส้ได้จากท่อน้ำดีตีบตัน สารบิลิรูบินจากน้ำดี จึงท้นเข้าสู่กระแสโลหิต จึงก่ออาการดีซ่าน
  • มารดา และทารกมีเลือดคนละชนิด/คนละหมู่เลือด และเป็นชนิดที่เข้ากันไม่ได้ ในเลือดทารกจึงมีสารภูมิต้านทานที่ทำลายเม็ดเลือดแดงของตนเอง เม็ดเลือดแดงของทารกจึงถูกทำลายเพิ่มขึ้น สารบิลิรูบินในเลือดจึงสูงขึ้น จึงก่ออาการดีซ่านได้

ข.สาเหตุที่พบบ่อยในผู้ใหญ่: ได้แก่

  • โรคติดเชื้อของตับ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ และ โรคฉี่หนู
  • โรคติดเชื้อบางชนิดที่ทำให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดง เช่น โรคไข้จับสั่น (มาลาเรีย)
  • โรคตับอักเสบจากผลข้างเคียงของยา /อาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด เช่น จากยาบางชนิดในการรักษา วัณโรค หรือ ยาปฏิชีวนะ บางชนิด
  • โรคตับอักเสบจาก โรคภูมิแพ้ตนเอง (ภูมิต้านตนเอง)/โรคออโตอิมมูน
  • โรคจากมีการอุดตันทางเดินน้ำดี น้ำดีและสารบิลิรูบินในน้ำดีจึงไม่สามารถไหลลงสู่ลำไส้ได้ สารบิลิรูบินจึงท้นเข้าสู่กระแสเลือด เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคมะเร็งตับชนิดเกิดจากท่อน้ำดีในตับ/มะเร็งท่อน้ำดีตับ และโรคมะเร็งตับอ่อน
  • โรคเลือดบางชนิด ที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้น เช่น โรคจีซิกพีดี (G6PD) และ โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)

โรคดีซ่านมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคดีซ่าน คือ

ก. อาการจากสาเหตุ: เช่น

  • มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เมื่อเกิดจากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือ
  • มีไข้สูง หนาวสั่นเมื่อเกิดจากติดเชื้อ โรคไข้จับสั่น หรือ โรคฉี่หนู หรือ
  • จาก ภาวะซีด เมื่อเกิดจากโรคเลือด

ข. อาการจากสารบิลิรูบินในเลือดสูง: คือ

  • อาการตัว/ผิวหนังและตาเหลือง ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เหลือง และอาการคัน จากสารบิลิรูบินก่อการระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • แต่ในเด็กทารก เมื่อมีบิลิรูบินในเลือดสูงมาก สารนี้จะซึมเข้าสู่สมอง ก่อให้เกิด โรคสมองอักเสบ ชนิดไม่ใช่เกิดจากติดเชื้อได้ ทั้งนี้เพราะในทารก สมองยังเจริญได้ไม่ดีพอ สารบิลิรูบินจึงซึมเข้าสู่สมองได้ แต่ในเด็กวัยอื่นๆและในผู้ใหญ่ สมองสามารถป้องกันไม่ให้สารนี้เข้าสู่สมองได้ ดังนั้นสารบิลิรูบินจึงก่ออาการทางสมองเฉพาะในทารกเท่านั้น

ทั้งนี้ อาการของทารก จากมีสารบิลิรูบินเข้าไปจับในสมอง เช่น

  • ชัก
  • ร้องไห้เสียงสูงผิดปกติ
  • ซึม นอนทั้งวัน
  • ไม่ดูดนม
  • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
  • หูหนวกถาวร และ
  • เมื่อโตขึ้น อาจมีสติปัญญาด้อยกว่าเกณฑ์

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเรื่องรายละเอียดของอาการจากโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้ในเว็บ haamor.com

แพทย์วินิจฉัยโรคดีซ่านได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคดีซ่าน ได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการติดเชื้อ โรคประจำตัวทั้งในอดีตและปัจจุบัน การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดู ซีบีซี(CBC) ค่าสารบิลิรูบิน ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือด และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ การตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทานโรคต่างๆ เพื่อวินิจฉัย โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น และในบางครั้ง อาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อจากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคดีซ่านได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรค/ภาวะ/อาการดีซ่าน คือ

ก. การรักษาสาเหตุ เพื่อลดปริมาณ บิลิรูบินในเลือด เช่น ให้ ยาปฏิชีวนะ เมื่อเกิดจาก โรคฉี่หนู หรือ ผ่าตัดเมื่อเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเรื่องรายละเอียดของ การรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้ในเว็บ haamor.com) นอกจากนั้น คือ

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการคัน/ยาแก้คันเมื่อมีอาการคันร่วมด้วย เป็นต้น

โรคดีซ่านมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?

ผลข้างเคียงจากโรค/อาการดีซ่าน คือ

  • อาการคันทั่วตัว โดยเฉพาะ แขน ขา
  • การเสียภาพลักษณ์จากตัว/ตาเหลือง และ
  • อาการทางสมองที่พบในทารกดังกล่าวแล้วในหัวข้อ’อาการฯ’
  • นอกจากนั้น คือ อาการจากผลข้างเคียงจากโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น
    • ภาวะซีด เมื่อเกิดจากโรคเลือด หรือ โรคที่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น หรือ
    • อาจเกิด โรคตับแข็ง เมื่ออาการเกิดจาก โรคไวรัสตับอักเสบ บี

โรคดีซ่านรุนแรงไหม?

ความรุนแรงของโรค/ภาวะ/อาการดีซ่าน ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ไม่รุนแรงเมื่อมีสาเหตุจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี แต่จะรุนแรงมาก เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็งตับ หรือมะเร็งตับอ่อน เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแล/การพบแพทย์/มาโรงพยาบาลได้แก่

ก. ในเด็กทารก ควรรีบนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อเด็กมีอาการดีซ่านตั้งแต่แรกเกิด หรือ เด็กมี ตัว ตา เหลืองมาก หรือ มากขึ้นเรื่อยๆ หรือ ตัว ตา เหลือง ไม่ค่อยๆจางลงภายใน 1 สัปดาห์ หรือ เมื่ออาการเกิดร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ เช่น มีไข้ หรือ เมื่อมารดามีความกังวลในอาการ

ข. ในเด็กวัยอื่นๆและในผู้ใหญ่ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่อมีอาการ ตัว ตาเหลือง และภายหลังพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองที่บ้าน ได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • พักผ่อนเต็มที่ หยุดงาน หยุดเรียนตามแพทย์แนะนำ
  • กินอาหาร ดื่มน้ำตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • กินยาเฉพาะที่แพทย์/พยาบาล แนะนำ ไม่ซื้อยากินเอง
  • งดสุรา และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำลายเซลล์ตับเพิ่มขึ้น
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรง และป้องกันโรคติดต่อสู่ผู้อื่น เมื่อสาเหตุของอาการเกิดจากการติดเชื้อ
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ และ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ตัว/ตาเหลืองมากขึ้น หรือ
    • อาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียเรื้อรัง หรือ
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง วิงเวียนศีรษะมาก ขึ้นผื่น
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคดีซ่านได้อย่างไร?

การป้องกันโรค/ภาวะ/อาการดีซ่าน คือ การป้องกันสาเหตุ(ดังได้กล่าวในหัวข้อ ‘สาเหตุฯ’)ที่ป้องกันได้ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • ป้องกันการติดเชื้อต่างๆทั้งแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • จำกัดการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกัน โรคตับแข็ง
  • ไม่กินปลาน้ำจืดสุกๆดิบๆหรือ หมักดอง เพื่อป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของ โรคมะเร็งท่อน้ำดีตับ
  • รักษาและควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกัน โรคธาลัสซีเมีย ของลูกที่จะเกิดมา

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Roche, S., and Kobos, R. (2004).Jaundice in the adult patient. Am Fam Physician, 69, 299-304.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Jaundice [2018,Nov3]
  4. https://www.healthline.com/health/jaundice-yellow-skin#pictures-of-jaundice [2018,Nov3]