ดอร์โซลาไมด์ (Dorzolamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาดอร์โซลาไมด์ (Dorzolamide หรือ Dorzolamide hydrochloride) เป็นยาในกลุ่ม Carbo nic anhydrase inhibitor ที่ใช้ลดความดันในลูกตา ทางคลินิกได้นำมาเป็นยาหยอดตาสำหรับรักษาโรคต้อหิน โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเกิดสารน้ำในลูกตา ขนาดความเข้มข้นที่มีจำหน่ายในปัจจุบันคือ 2% ใช้หยอดตาข้างที่มีอาการครั้งละ 1 หยดวันละ 2 - 3 ครั้งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ และระยะเวลาที่ใช้ยาขึ้นอยู่กับคำสั่งแพทย์เช่นกัน

ยาดอร์โซลาไมด์สามารถใช้ร่วมกับยาหยอดตาชนิดอื่นๆที่ช่วยลดความดันของลูกตาได้อีกด้วย เช่น ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) อย่างเช่นยา Timolol

ทั้งนี้มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่เหมาะกับการใช้ยาดอร์โซลาไมด์เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาดอร์โซลาไมด์
  • เป็นผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ขณะนั้นผู้ป่วยมีการใช้ยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitor ตัวอื่นอยู่เช่น ยา Acetazola mide, Methazolamide
  • สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาต่างๆทุกประเภทซึ่งรวมถึงยาดอร์โซลาไมด์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการใช้ยาดอร์โซลาไมด์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • กรณีที่ตามีบาดแผลหรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดไม่เหมาะต่อการใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยที่มีการใช้ยากลุ่ม Salicylates เช่น Aspirin หากใช้ยาดอร์โซลาไมด์ร่วมด้วยอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาดอร์โซลาไมด์เพิ่มมากขึ้น
  • ยาดอร์โซลาไมด์มีโครงสร้างเหมือนกลุ่มยาซัลฟา (Sulfa) หรือยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfona mide) จึงไม่เหมาะที่จะใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มซัลฟาหรือกลุ่มซัลโฟนาไมด์

อนึ่งโดยทั่วไปการใช้ยาหยอดตาต่างๆ มีข้อควรปฏิบัติตามขั้นตอนง่ายๆต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบใช้ยาหยอดตา
  • เอียงศีรษะเล็กน้อยโดยให้อยู่ในมุมที่ถนัดที่สุด
  • ดึงเปลือกตา/หนังตาล่างลงเบาๆเพื่อเปิดพื้นที่ในตาของการหยอดยา
  • มองที่ปลายหลอดของยาหยอดตาและวางในตำแหน่งที่ห่างจากตาพอประมาณ
  • บีบหลอด/ขวดยาหยอดตาให้ยาหยดตรงบริเวณในตา จำนวนหยดของยาให้ใช้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
  • หลับตาประมาณ 2 - 3 นาทีโดยเอียงศีรษะเพื่อไม่ให้ยาไหลออกมาจากตา
  • หลังหยอดยาควรหลีกเลี่ยงการกระพริบตาถี่ๆเพราะยาจะไหลออกจากตา แต่ใช้นิ้วมือคลึงเบาๆบริเวณหัวมุม ของเปลือกตาเพื่อช่วยกระจายตัวยา
  • หากมีการใช้ยาหยอดตาชนิดอื่นร่วมด้วยควรเว้นระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 5 นาที

ยาดอร์โซลาไมด์ที่ใช้หยอดตาอาจทำให้เกิดอาการตาพร่า มองภาพไม่ชัด หากมีภาวะดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆหรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาหยอดตาดอร์โซลาไมด์เป็นยาอันตรายชนิดสำหรับใช้ภายนอก การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง หากผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาดอร์โซลาไมด์เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป

ดอร์โซลาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ดอร์โซลาไมด์

ยาดอร์โซลาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อลดความดันในลูกตาอันมีสาเหตุจากโรคต้อหินหรืออาการความดันตาในลูกตาสูง

ดอร์โซลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาดอร์โซลาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Carbonic anhydrase (เอนไซม์ที่เกี่ยวกับการสร้างสารน้ำในลูกตา) ส่งผลยับยั้งปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้เกิดโมเลกุลของสารน้ำในลูกตา เมื่อการผลิตสารน้ำในลูกตาน้อยลง ความดันภายในลูกตาจะลดลงมาตามลำดับ

ดอร์โซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาดอร์โซลาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาหยอดตาขนาดความเข้มข้น 2%
  • ยาหยอดตาที่ผสมร่วมกับยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) เช่น Dorzolamide hydrochloride 20 มิลลิกรัม + Timolol maleate 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ดอร์โซลาไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาดอร์โซลาไมด์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: หยอดตาข้างที่เป็นโรคครั้งละ 1 หยดวันละ 3 ครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาดอร์โซลาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วขึ้นผื่น ใบหน้าบวม หายใจลำบาก รวมถึงหยอดยาหยอดตาอะไรแล้วมีอาการปวด แสบ ระคายเคืองตามาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคตาต่างๆ รวมทั้งกำลังใช้ยาหยอดตาอะไรอยู่ เพราะยาดอร์โซลาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาต่างๆที่รวมถึงยาหยอดตาชนิดต่างๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดยาดอร์โซลาไมด์สามารถหยอดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการหยอดยาในเวลาถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการหยอดยาเป็น 2 เท่า

ดอร์โซลาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาดอร์โซลาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น มีอาการตาพร่า กระจกตาอักเสบ แสบ-คัน-ระคายเคืองตา
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดนิ่วในไต
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีเลือดกำเดา
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน หรืออาจเกิดภาวะ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาจรู้สึกว่ามีรสขมตลอดเวลา ปวดศีรษะ

มีข้อควรระวังการใช้ดอร์โซลาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาดอร์โซลาไมด์เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีบาดแผลในตาหรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดตามาใหม่ๆ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนได้จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆหรือการทำงานกับเครื่องจักรเมื่อเกิดอาการดังกล่าวเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยาเช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว และใบหน้า/ตัวบวม เป็นต้น
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาดอร์โซลาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ดอร์โซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาดอร์โซลาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาดอร์โซลาไมด์ร่วมกับยา Aspirin, Diflunisal (ยาแก้ปวด) อาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ มีเสียงแว่วในหู คลื่นไส้ รู้สึกสับสน ประสาทหลอน หายใจเร็ว มีไข้ เกิดอาการชักจนถึงขั้นโคม่า หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาดอร์โซลาไมด์ร่วมกับยา Acetazolamide อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยา Acetazolamide มากขึ้นเช่น ง่วงนอน วิงเวียน ชามือ-เท้า มีเสียงในหู เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาดอร์โซลาไมด์อย่างไร?

เก็บยาดอร์โซลาไมด์ในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ดอร์โซลาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาดอร์โซลาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cosopt (โคซอฟท์)MSD
Trusopt (ทรูซอฟท์)MSD

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยาดอร์โซลาไมด์ที่จำหน่ายในต่างประเทศเช่น Ocumeter

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dorzolamide [2016,July16]
  2. https://www.drugs.com/cdi/dorzolamide-drops.html [2016,July16]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/trusopt/?type=brief [2016,July16]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/dorzolamide/?type=brief&mtype=generic [2016,July16]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/dorzolamide-ophthalmic-index.html?filter=3&generic_only= [2016,July16]