ซ่า ! จนข้อเสื่อม (ตอนที่ 5)

แม้ว่าโรคข้อเสื่อมจะถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนมีอายุ แต่ก็อาจจะเลี่ยงได้ นักวิเคราะห์ได้ทำการศึกษาถึงสาเหตุของข้อเสื่อม และได้ให้คำแนะนำถึงวิธีการป้องกันโรคหรือลดพัฒนาการของโรคซึ่งกระทบต่อชีวิตไว้ดังนี้

การควบคุมน้ำหนัก – ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคข้อเสื่อม จากข้อมูลการศึกษาในหมู่ชาวอเมริกันพบว่า ผู้หญิงที่อ้วนมีโอกาสเป็นโรคข้อเสื่อมมากกว่าผู้หญิงที่ไม่อ้วนเกือบ 4 เท่า ในขณะที่ผู้ชายที่อ้วนมีโอกาสเป็นโรคข้อเสื่อมมากกว่าผู้ชายที่ไม่อ้วนเกือบ 5 เท่า

การมีน้ำหนักมากจะทำให้ข้อตึง โดยเฉพาะส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น เข่า สะโพก และข้อเท้า ซึ่งทำให้กระดูกอ่อนค่อยๆ เสื่อมลง การลดน้ำหนักลงอย่างน้อยร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัว จะช่วยลดแรงกดลงบนเข่า สะโพก และหลังส่วนล่าง

จากการวิจัยผู้เป็นโรคข้อเสื่อมที่เมือง Framingham รัฐ Massachusetts นักวิจัยได้ประมาณว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินแล้วลดน้ำหนักลงได้ 11 ปอนด์ หรือ ประมาณ 2 ดัชนีมวลกาย (Body mass index = BMI) สามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคข้อเสื่อมได้มากกว่าร้อยละ 50 ในขณะที่การมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมด้วย

ทั้งนี้ ค่าดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก / ส่วนสูง2 และเมื่อคำนวณค่าดัชนีมวลกายได้แล้ว ลองนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ดังนี้

การประเมินค่าดัชนีมวลกาย
BMI มาตรฐานสากล (ยุโรป) BMI มาตรฐานอาเซียน (เอเชีย) การแปลผล
น้อยกว่า 18.5 น้อยกว่า 18.5 น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน
18.5-24.9 18.5-22.9 ปกติ
25-29.9 23-24.9 อ้วนระดับ 1
30-34.9 25-29.9 อ้วนระดับ 2
35-39.9 มากกว่าหรือเท่ากับ 30 อ้วนระดับ 3
มากกว่าหรือเท่ากับ 40 - อ้วนระดับ 4

การออกกำลังกาย – นักวิจัยกล่าวว่า การที่กล้ามเนื้อที่อยู่ด้านหน้าของต้นขาอ่อนแอ จะเพิ่มความเสี่ยงในการปวดข้อเข่า ในขณะที่การเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อควอดริเซ็บ (Quadriceps) เพียงเล็กน้อย สามารถที่จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้

ในการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อควอดริเซ็บนี้ นายแพทย์ Todd P. Stitik อาจารย์จาก UMDNJ-New Jersey Medical School ได้แนะนำให้เคลื่อนไหวแบบไอโซเมตริก (Isometric moves) และค่อยๆ เลื่อนไปตามกำแพง โดยการยืนหันหลังให้กำแพง แยกขาออกให้กว้างระดับไหล่ แล้วพิงกำแพง วางเท้าออกไปทางด้านหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ งอเข่า วางมือลงบนเอว และเลื่อนกระดูกสันหลังลงจนอยู่ในท่านั่งได้ (กระดูกสันหลังต้องติดกำแพง) ซึ่งไม่ควรงอเข่าเกิน 90 องศา แล้วยืนขึ้น ทำซ้ำอย่างนี้ประมาณ 8 - 10 ครั้ง

แหล่งข้อมูล:

  1. Osteoarthritis Prevention. http://www.webmd.com/osteoarthritis/guide/osteoarthritis-prevention-1 [2012, December 13].
  2. ค่าดัชนีมวลกาย http://dopah.anamai.moph.go.th/bmi.php [2012, December 13].