ซ่า ! จนข้อเสื่อม (ตอนที่ 2)

ตามทฤษฎีนั้น โรคข้อเสื่อมเกิดได้ในทุกข้อต่อ แต่โดยทั่วไปมักจะเกิดที่บริเวณ มือ เท้า กระดูกสันหลัง และข้อต่อที่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น สะโพกและเข่า ยิ่งข้อเสื่อมมากเท่าไร บริเวณที่เป็น จะกว้างขึ้น จะรู้สึกปวดเมื่อย และรู้สึกแย่ลงถ้าต้องใช้งานตรงส่วนนั้นมากหรือนานขึ้น ในขณะที่จะรู้สึกดีขึ้นถ้าใช้งานตรงส่วนนั้นน้อยลง นี่คือสิ่งที่แตกต่างจากการเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

ในข้อต่อเล็กๆ เช่น นิ้วมือ อาจเกิดปุ่มกระดูกที่เรียกว่า Heberden's nodes ที่ข้อต่อระหว่างกระดูกนิ้วมือส่วนปลาย (Distal interphalangeal joints) และ ปุ่มกระดูกที่เรียกว่า Bouchard's nodes ที่ข้อต่อระหว่างกระดูกนิ้วมือส่วนต้น (Proximal interphalangeal joints) ซึ่งอาจจะไม่รู้สึกปวด แต่ก็ทำให้การเคลื่อนไหวของนิ้วมือไม่คล่องตัว ส่วนอาการข้อเสื่อมที่เท้าอาจทำให้เกิดตาปลา (Bunions) สีแดงและบวม ซึ่งบางคนอาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ก่อนที่จะรู้สึกปวด

เชื่อกันว่า แรงกดบนข้อต่อเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคข้อเสื่อม โดยแรงกดนั้นรวมถึงการที่กระดูกอยู่ในตำแหน่งที่ผิดรูปมาตั้งแต่เกิด การได้รับบาดเจ็บ น้ำหนักตัวที่มากเกิน การสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ยึดข้อ และความบกพร่องของเส้นประสาทรอบๆ ข้อ เป็นเหตุให้เกิดแรงกดบนข้อมากไป

มีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคข้อเสื่อมได้รวมถึง . . .

  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Heredity) บางคนอาจได้รับยีน/จีน (Gene) ที่มีข้อบกพร่องในการสร้างกระดูกอ่อน ซึ่งทำให้เกิดการเสื่อมของข้อต่อที่เร็วกว่าปกติ คนที่มีความผิดปกติของข้อมาแต่กำเนิดมักเป็นโรคข้อเสื่อม ส่วนคนที่มีความผิดปกติในกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) มักเป็นโรคข้อเสื่อมที่กระดูกสันหลัง
  • ความอ้วน (Obesity) ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเสื่อมที่เข่า สะโพก และกระดูกสันหลัง การรักษาน้ำหนักให้พอดีหรือการลดน้ำหนักที่มากเกินไป จะช่วยป้องกันการเป็นโรคข้อเสื่อมในบริเวณดังกล่าว หรือช่วยลดอาการเสื่อมให้ช้าลงได้
  • การได้รับบาดเจ็บ เช่น นักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่ามีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม นอกจากนี้คนที่ได้รับบาดเจ็บที่หลังอย่างรุนแรงอาจมีความโน้มเอียงที่จะเป็นโรคข้อเสื่อมที่กระดูกสันหลังได้ หรือคนที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกหักใกล้ข้อใด จะมีแนวโน้มที่เป็นโรคข้อเสื่อมที่ข้อต่อบริเวณนั้นๆ
  • การใช้ข้อต่อมากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเสื่อม เช่น คนทำงานที่ต้องงอเข่ามีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
  • การเป็นโรคอื่นๆ เช่น คนที่เป็นโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) มักจะเป็นโรคข้อเสื่อมด้วย นอกจากนี้ในบางกรณี (ซึ่งพบได้ยาก) การมีธาตุเหล็กหรือมีฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโต (Growth hormone) ที่มากเกินไป ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเสื่อมได้

แหล่งข้อมูล:

  1. The Basics of Osteoarthritis. http://www.webmd.com/osteoarthritis/guide/osteoarthritis-basics [2012, December 10].
  2. Osteoarthritis. http://en.wikipedia.org/wiki/Osteoarthritis [2012, December 10].