“ซูโดอีเฟดรีน” ยาหวัดหรือยาบ้า (ตอนที่ 2)

นายวิชัย ไชยมงคล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ภาค 5 ตรวจสอบซองและแผงบรรจุยาแก้หวัดไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด ถูกทิ้งไว้ในที่ดินร้าง ที่สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นยาที่มีส่วนผสมของสารซูโดรอีเฟดรีน คาดว่าปริมาณยาแก้หวัดที่พบครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านเม็ด และน่าจะเป็นขบวนการเดียวกับที่เคยพบซองยาแก้หวัดกว่า 7 ล้านเม็ด ที่สันกำแพง เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังเปิดเผยว่า ล่าสุดทางกรมฯ ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและสายข่าวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจยึดซองยาแก้หวัดน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม โดยเป็นยาแก้หวัดที่มีเครื่องหมายการค้า 8 แห่ง ถูกเผาทำลายอยู่บริเวณริมน้ำแม่กก บ้านห้วยน้ำเย็น อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ยึดของกลางดังกล่าวไว้สอบสวนขยายผลจากหมายเลขกำกับซองยา ว่าเป็นยาแก้หวัดที่ถูกสั่งออกมาจากโรงพยาบาลใด

ยาซูโดอีเฟดรีน ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus – DM) โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease) โรคความดันโลหิตสูงที่รุนแรง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease – CAD) อย่างรุนแรง โรคต่อมลูกหมากโต (Prostatic hypertrophy) ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) โรคต้อหินชนิดมุมปิด (Closedขangle glaucoma) หรือในหญิงมีครรภ์

ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มว่าเป็นพวกวิตกจริตหรือตื่นตระหนกง่าย ควรใช้ยาซูโดอีเฟดรีนด้วยความระมัดระวัง เพราะโดยทั่วไปผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้จะทำให้เกิดความวิตกกังวล และการกระสับกระส่ายอันเกิดจากคุณสมบัติของสารกระตุ้นทีมีอยู่ในตัวยา

เนื่องจากอาการหวัดคัดจมูกถือเป็นอาการป่วยเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยควรใช้ทางเลือกอื่นในการรักษา เช่น การพ่นหรือการหยอดน้ำเกลือ (Saline sprays/instillations) ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพของผู้ป่วย ยาลดอาการคัดจมูกเฉพาะที่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังไม่เกิน 3 วันเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโรคเยื่อจมูกอักเสบ (Rhinitis medicamentosa)

คนที่มีอาการโรคจิตที่เรียกว่า โรคจิตแบบสองขั้ว/อารมณ์แปรปรวนผิดปกติมาก (Bipolar disorder) กล่าวคือ เดี๋ยวสุขเดี๋ยวเศร้าซึม เมื่อใช้ยาซูโดอีเฟดรีนต้องระมัดระวัง เพราะอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ และเป็นผลให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง (Manic episode) ได้ ส่วนการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนร่วมกับยาลดภาวะซึมเศร้า ประเภท MAOI (= Monoamine oxidase inhibitor) หรือภายหลังหยุดยาซึมเศร้าได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ อาจทำให้เกิดอาการความดันโลหิตสูง รวมถึงภาวะความดันโลหิตสูงอย่างเฉียบพลัน (Hypertensive crises)

ในวงการกีฬา ยาซูโดอีเฟดรีนอยู่ในบัญชียาต้องห้ามของคณะกรรมการโอลิมปิคระหว่างชาติ (International Olympic Committee List – IOC) จนถึงปี พ.ศ. 2547 หลังจากนั้นก็มีการควบคุมการใช้และถูกนำมาบรรจุไว้ในบัญชียาต้องห้ามอีกครั้งโดยองค์การโลกต่อต้านการใช้ยากระตุ้น (World Anti-Doping Agency – WADA) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2543 นักกีฬาโอลิมปิค (ที่นครซิดนีย์ ในออสเตรเลีย) บางคนได้ถูกริบเหรียญทองคืนเมื่อพบว่ามีการใช้ยาตัวนี้แม้ว่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นยารักษาอาการหวัดก็ตาม

การตรวจหาสารซูโดอีเฟดรีนทำได้โดยการวิเคราะห์หาปริมาณหรือจำนวนในเลือด ในน้ำเลือด (Plasma) หรือในปัสสาวะ เพื่อช่วยในการตรวจจับนักกีฬาที่ใช้สารกระตุ้น เพื่อวิเคราะห์การถูกยาพิษ หรือใช้ในการชันสูตรทางนิติเวช (Medicolegal) สำหรับผู้ที่ใช้ซูโดอีเฟดรีนเพื่อการรักษา ความเข้มข้นของซูโดอีเฟดรีนในเลือด หรือในน้ำเลือดจะอยู่ในช่วงระหว่าง 50–300 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่ผู้ที่ใช้เพื่อเสพ จะอยู่ระหว่าง 500–3,000 ไมโครกรัมต่อลิตร และผู้ที่ใช้สารเกินขนาดซึ่งทำให้ถึงตายได้จะอยู่ระหว่าง 10–70 มิลลิกรัมต่อลิตร

แหล่งข้อมูล:

  1. พบอีกซองยาแก้หวัดถูกทิ้งที่ จ.เชียงใหม่ 2 อุด กว่า 5 ล้านเม็ดถูกทิ้งในที่ร้างสันกำแพง ส่วนอีกแห่ง หนักกว่า 5 กก. ถูกเผาทิ้งริมน้ำแม่กก อ.แม่อาย เจ้าหน้าที่เร่งสอบ http://www.posttoday.com/อาชญากรรม/145573/พบซองยาแก้หวัดล็อตใหญ่ถูกทิ้งเชียงใหม่ [2012, April 5].
  2. Pseudoephedrine. http://en.wikipedia.org/wiki/Pseudoephedrine [2012, April 5].