ซูโคลเพนทิซอล (Zuclopenthixol or Zuclopentixol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซูโคลเพนทิซอล (Zuclopenthixol หรือ Zuclopentixol) เป็นอนุพันธุ์หนึ่งของกลุ่มยาไทโอแซนทีน (Thioxanthene, ยารักษาทางจิตเวช) ถูกแนะนำและเป็นที่รู้จักกันในวงการแพทย์เมื่อปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการทางจิตประสาทในแบบต่างๆ (Typical antipsychotic drug) รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานและยาฉีด

ยาซูโคลเพนทิซอลชนิดรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้เพียงประมาณ 48% จากนั้นจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีน 98% และถูกส่งไปทำลายโดยตับ การกำจัดยาออกจากร่างกายจะใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกันอย่างมากกล่าวคือ กรณียาชนิดรับประทานจะใช้เวลา 20 ชั่วโมงโดยประมาณ แต่ถ้าเป็นยาชนิดฉีดเข้ากล้าม/เข้ากล้ามเนื้อจะต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 19 วันทั้งนี้อาจจะมีเหตุผลมาจากโครงสร้างของตัวยาสำคัญในรูปแบบสารประกอบที่ต่างกันเช่น

  • ยา Zuclopenthixol decanoate ถูกผลิตเป็นยาฉีดแบบเข้ากล้ามและมีการออกฤทธิ์นาน ผู้ป่วยที่ต้องบำบัดอาการทางจิตสามารถรับยาซูโคลเพนทิซอลชนิดนี้ได้ทุก 2 - 3 สัปดาห์/ครั้ง ซึ่งเหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยที่มักมีพฤติกรรมก้าวร้าว
  • ยา Zuclopenthixol acetate ใช้เป็นยาฉีดเข้ากล้ามอีกแบบหนึ่งแต่จะออกฤทธิ์ระยะสั้นมักใช้ในกรณีต้องการสงบประสาทของผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว
  • Zuclopenthixol dihydrochloride ผลิตเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานเหมาะกับผู้ป่วยที่ยินยอมรับประทานยาได้เอง

ขนาดการใช้ยาซูโคลเพนทิซอลของอาการทางจิตในผู้ป่วยแต่ละประเภทย่อมมีความแตกต่างกันออกไป โดยมีข้อจำกัดบางประการที่ผู้ป่วยจิตเภทแทบทุกกลุ่มควรหลีกเลี่ยงหรือต้องเฝ้าระวัง หากใช้ยาชนิดนี้อาทิ

  • ผู้ป่วยต้องไม่มีประวัติแพ้ยาซูโคลเพนทิซอลมาก่อน
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วมีอาการง่วงนอน เซื่องซึมอย่างรุนแรง หรือมีปัญหาเรื่องการไหลเวียนโลหิตอย่างเช่น หลอดเลือดอุดตัน (อาการเช่น บวม เขียวคล้ำตามแขนขา) ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที
  • ผู้ที่มีประวัติการป่วยด้วยหัวใจเต้นผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง หรือมีปัญหาด้านโรคหืด มีโรคตับ โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคพาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคต้อหิน จะต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังและควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่ามีโรคประจำตัวชนิดใดอยู่บ้าง
  • มีการใช้ยาบำบัดอาการทางจิตชนิดอื่นๆอยู่ก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่แพทย์จะต้องทราบและนำมาพิจารณาประกอบการรักษา นอกจากนี้ยังรวมถึงยาประเภทอื่นๆที่สามารถเกิดปฏิกิริยาระ หว่างยากับยาซูโคลเพนทิซอล
  • ยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับเด็ก
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงต่อการใช้ยาทุกชนิดรวมยาซูโคลเพนทิซอล

ประเทศในซีกโลกตะวันตกบางประเทศไม่ใช้ยานี้ในวงการสาธารณสุข แต่สำหรับประเทศไทย ยาซูโคลเพนทิซอลได้ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีเงื่อนไขการใช้ยาก็ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการบำบัดอาการทางจิตด้วยยาอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือจะกล่าวว่ายานี้ยังไม่เหมาะที่จะใช้เป็นยาทางเลือกแรกในการบำบัดอาการทางจิต

ยาซูโคลเพนทิซอลถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและความเหมาะสมต่อผู้ป่วย การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ซูโคลเพนทิซอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซูโคลเพนทิซอล

ยาซูโคลเพนทิซอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อเป็นยาบำบัดอาการทางจิต

ซูโคลเพนทิซอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาซูโคลเพนทิซอลคือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ในสมอง ที่มีชื่อว่า Dopamine D1 receptor, Dopamine D2 receptors, Alpha1-adrenoceptors รวมถึง 5-HT2 receptors (5-hydroxytryptamine 2 receptor) ส่งผลให้เกิดการปรับสมดุลสารเคมีในสมองที่เหมาะสมมากขึ้น จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ซูโคลเพนทิซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซูโคลเพนทิซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 2 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดขนาด 100 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

ซูโคลเพนทิซอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซูโคลเพนทิซอลมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: สามารถรับประทานยาได้ 4 - 150 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานเริ่มต้นสามารถใช้ยาที่ 20 - 30 มิลลิกรัม/วัน หลังมีการเฝ้าติดตามอาการแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานขึ้นเป็น 20 - 50 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานในแต่ละครั้งห้ามเกิน 40 มิลลิกรัม ทั้งนี้สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซูโคลเพนทิซอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซูโคลเพนทิซอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซูโคลเพนทิซอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า อย่างไรก็ตามการลืมรับประทานยาบ่อยหลายครั้งหรือหยุดการใช้ยาเองสามารถก่อให้เกิดผลเสียต่างๆตามมาเช่น ทำให้อาการป่วยแย่ลง

ซูโคลเพนทิซอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซูโคลเพนทิซอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ ค่า ECG (การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) เปลี่ยนไปจากเดิม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบอาการผื่นคันตามผิวหนัง สีผิวเปลี่ยนไป
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ทำให้เกิดภาวะรวมตัวของเกล็ดเลือดได้ง่าย
  • ผลต่อระบบการมองเห็น: เช่น รูม่านตาขยาย มีอาการตาพร่า มองเห็นไม่ชัดเจน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง อาเจียน ปวดท้อง
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนไป มีภาวะเต้านมโตขึ้นในบุรุษ อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนไป น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ทำให้สมรรถนะทางเพศของบุรุษถดถอย (นกเขาไม่ขัน)
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า วิตกกังวล ฝันร้าย

มีข้อควรระวังการใช้ซูโคลเพนทิซอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซูโคลเพนทิซอลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจาก แพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • สำหรับผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไปแพทย์จะพิจารณาลดขนาดรับประทานยานี้ลงมาในช่วง 0.25 -0.5 เท่าของขนาดรับประทานในผู้ใหญ่
  • หากใช้ยานี้ไปสักระยะแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรต้องพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • หากรับประทานยานี้แล้วมีอาการวิงเวียน ง่วงนอน ควรต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ ยวดยานพาหนะต่างๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซูโคลเพนทิซอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซูโคลเพนทิซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซูโคลเพนทิซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาซูโคลเพนทิซอลร่วมกับยา Quinidine, Amiodarone, Sotalol, Dofetilide, Moxifloxacin, Cisapride อาจทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวจึงไม่ควรใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาซูโคลเพนทิซอลร่วมกับยา Barbiturate จะยิ่งทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยาซูโคลเพนทิซอลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะยิ่งทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน มากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาซูโคลเพนทิซอลอย่างไร?

ควรเก็บยาซูโคลเพนทิซอลภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ซูโคลเพนทิซอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซูโคลเพนทิซอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Clopixol (โคลพิซอล)H. Lundbeck A/S

*อนึ่งยาชื่อการค้าของยาซูโคลเพนทิซอลที่จำหน่ายในประเทศตะวันตกเช่น Cisordi nol, Acuphase

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Zuclopenthixol [2016,April16]
  2. http://www.drugs.com/uk/zuclopenthixol-10mg-tablets-leaflet.html [2016,April16]
  3. http://www.drugs.com/uk/pdf/leaflet/705335.pdf [2016,April16]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/64#item-8492 [2016,April16]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Clopixol%20Acuphase/?type=brief [2016,April16]
  6. http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Zuclopenthixol [2016,April16]