ซูเปอร์บัคจอมดื้อยา (ตอนที่ 2)

ซูเปอร์บัคจอมดื้อยา-2

เป็นที่ทราบกันว่า แบคทีเรียมีอยู่ทุกที่และไม่ใช่แบคทีเรียทั้งหมดจะมีแต่โทษ โดยส่วนใหญ่จะเป็นแบคทีเรียที่ไม่ก่อโทษ ในขณะที่บางตัวกลับเป็นตัวที่ให้คุณ และบางครั้งเราสามารถหายจากการเจ็บป่วยเพราะเชื้อแบคทีเรียได้โดยไม่ต้องรักษา เช่น การติดเชื้อที่ผิวหนังหรือที่หูเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บางครั้งเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ก็สามารถทำให้เราเสียชีวิตได้ เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) หรือ โรคปอดอักเสบ (Pneumonia)

การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปเป็นสาเหตุให้เกิดการดื้อยา โดยจากการศึกษาพบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะ 1 คอร์ส จะเพิ่มความเสี่ยงในการที่เชื้อจะดื้อยาประมาณร้อยละ 50 ทั้งนี้เพราะ ไม่เพียงแต่ยาจะมีผลกระทบต่อเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเท่านั้น ยายังมีผลกระทบต่อส่วนอื่นด้วย

เช่น เมื่อกินยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสวะ ยานี้จะมีผลต่อส่วนอื่นของร่างกายด้วย อย่างการไปทำลายแบคทีเรียดีที่อยู่ในกระเพาะอาหาร หรือ แบคทีเรียดีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อตามธรรมชาติ นั่นหมายความว่า เราจะสามารถติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ

และไม่เพียงเฉพาะยาปฏิชีวนะที่เรากินโดยตรงเท่านั้น ยังมียาปฏิชีวนะที่เราได้รับโดยอ้อมด้วย เช่น ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการเกษตร ปศุสัตว์ อย่างเนื้อหมู เนื้อไก่ ที่เรากิน ก็ยิ่งเพิ่มปัจจัยของการดื้อยาได้

ทั้งนี้ สิ่งที่อาจเป็นตัวเร่งและทำให้เกิดการดื้อยา เช่น

  • การใช้ยาปฏิชีวนะมากหรือใช้ผิด
  • การควบคุมและป้องกันการติดเชื้อที่แย่
  • อาศัยหรือทำงานในที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
  • การจับต้องหรือดูแลอาหารไม่ถูกวิธี

ในปี พ.ศ.2557 รัฐบาลอังกฤษ ได้ยกประเด็นว่า ถ้าปัญหาเรื่องการดื้อยาปฏิชีวนะยังไม่ได้รับการแก้ไข การดื้อยาจะเป็นสาเหตุให้คนทั่วโลกเสียชีวิตปีละ 10 ล้านคน จนถึงปี พ.ศ.2593 หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 1.3 ล้านล้านดอร์ลาร์สหรัฐ

ซึ่งปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสำคัญกับเชื้อจุลินทรีย์ที่น่ากลัว 12 ตัว (12 Priority pathogens) ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงกับร่างกายมนุษย์ โดยเชื้อเหล่านี้สามารถหาวิธีดื้อยาได้ และสามารถถ่ายทอดยีนที่ทำให้แบคทีเรียตัวอื่นดื้อยาตามไปด้วย

โดยองค์การอนามัยโลกได้แบ่งเชื้อจุลินทรีย์ตามความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนายาปฏิชีวนะใหม่ เพื่อใช้ในการรักษาเป็น 3 ระดับ คือ ระดับจำเป็น (Critical) ระดับสูง (High) และระดับปานกลาง (Medium)

ระดับจำเป็น (Critical) ได้แก่

  1. Acinetobacter baumannii, carbapenem-resistant
  2. Pseudomonas aeruginosa, carbapenem-resistant
  3. Enterobacteriaceae, carbapenem-resistant, ESBL-producing

แหล่งข้อมูล:

  1. What are superbugs and how can I protect myself from infection? http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/infectious-diseases/expert-answers/superbugs/faq-20129283 [2017, August 22].
  2. Superbugs: What are they and how are they treated?. http://www.abc.net.au/news/health/2017-02-28/superbugs-what-are-they-and-how-are-they-treated/8310556 [2017, August 22].
  3. Superbugs: WHO says new drugs urgently needed to fight 12 bacteria families. http://www.abc.net.au/news/2017-02-28/who-says-drugs-urgently-needed-to-fight-12-priority-pathogens/830914 [2017, August 22].