“ซุปเปอร์ฟู้ด” อาหารมหัศจรรรย์

แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใดที่ชัดเจน แต่ก็มีหนึ่งคนในสิบคนที่เชื่อว่า “ซุปเปอร์ฟู้ด” (Superfood) สามารถป้องกันมะเร็งได้ โดยบทวิจัยของ Bupa's Cromwell Hospital ได้เปิดเผยว่า มีคนอังกฤษร้อยละ 11 ที่คิดเช่นนั้น ทั้งยังคิดว่าการกินซุปเปอร์ฟู้ดจะมีประโยชน์มากกว่ากินอาหารที่สมดุลเสียอีก

[อาหารที่สมดุล (Balanced Diet) หมายถึง การกินอาหารให้มีความหลากหลาย กินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่กินอาหารอย่างเดิมซ้ำๆ กันไม่ยอมเปลี่ยน หรือไม่กินอาหารอยู่ประเภทเดียว]

Christina Merryfield นักโภชนาการแห่ง Bupa's Cromwell Hospital ได้กล่าวว่า คำว่า “ซุปเปอร์ฟู้ด” ทำให้คนเข้าใจผิดเพราะยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจน ทั้งข้ออ้างที่ว่าซุปเปอร์ฟู้ดมีผลต่อสุขภาพก็ยังคลุมเครือหรือยังไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ได้ชัดเจน

ซุปเปอร์ฟู้ดไม่มีคำจำกัดความทางวิทยาศาสตร์ แต่มักลือกันไปต่างๆ นานาว่า เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิด และเมื่อมีการตีตราว่าเป็น “ซุปเปอร์ฟู้ด” ราคาก็มักจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งก็มีคนร้อยละ 15 ที่ยอมเสียเงินเพื่อแลกกับซุปเปอร์ฟู้ด

“ซุปเปอร์ฟู้ด” (Superfood) เป็นคำศัพท์ทางการตลาด (Marketing term) เพื่อใช้กล่าวถึงอาหารที่เชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซุปเปอร์ฟู้ดไม่ใช่คำที่นักโภชนาการ (Dietitian) และนักวิทยาศาสตร์อาหาร (Nutrition scientists) นิยมใช้กัน

ตามพจนานุกรมของแมคมิแลน (Macmillan dictionary) ได้ให้คำจำกัดความของซุปเปอร์ฟู้ดว่า เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและอาจจะช่วยรักษาอาการโรคบางอย่างได้ ส่วนงานวิจัยมะเร็งของสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) ได้ระบุว่า จริงๆ แล้วซุปเปอร์ฟู้ดเป็นเพียงเครื่องมือทางการตลาด ที่ใช้โปรโมทอาหารที่เชื่อว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือเชื่อว่าช่วยให้ร่างกายและอารมณ์มีสุขภาพดี ทั้งนี้เพราะซุปเปอร์ฟู้ดมักจะประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) วิตามิน หรือสารอาหารอื่นๆ

ซุปเปอร์ฟู้ดอยู่ในรูปของอาหารปกติ ไม่ใช่เม็ดยา แค๊ปซูล หรือในรูปอาหารเสริมอื่นๆ ตัวอย่างของซุปเปอร์ฟู้ด ได้แก่ ผลไม้พวกเบอรี่ (Berries) ถั่ว เมล็ดธัญพืช ผักสีเขียวเข้ม (เช่น บร็อคโคลี่) ผลไม้ตระกูลส้ม (Citrus fruits) ปลาที่มีไขมันสูง (Fatty fish เช่น แซลมอน แมคเคอรอล และซาร์ดีน ) ถั่ว โกโก้ ธัญพืชเต็มเมล็ดไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อยที่สุด (Whole Grains) เป็นต้น

Cancer Research UK ได้ระบุว่า มักมีการโฆษณาว่า ซุปเปอร์ฟู้ดมีคุณสมบัติในการป้องกันหรือรักษาโรค เช่น มะเร็ง แต่เราไม่ควรพึ่งพาซุปเปอร์ฟู้ดเพื่อลดความเสี่ยงเพียงอย่างเดียว เพราะซุปเปอร์ฟู้ดไม่สามารถแทนที่อาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายทั้ง 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม ที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ (Healthy and balanced diet)

นอกจากนี้งานวิจัยเกี่ยวกับซุปเปอร์ฟู้ดก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ เช่น งานวิเคราะห์ฉบับหนึ่งระบุว่า โกโก้ดิบ (Raw cocoa) มีผลดีต่อความดันเลือดและหัวใจ ในขณะที่งานวิเคราะห์อีกฉบับหนึ่งกลับระบุว่า ไม่แน่ใจว่าโกโก้ดิบจะมีผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

ด้วยงานวิจัยยังไม่มีบทสรุปหลักฐานทางการแพทย์ที่ชัดเจน ดังนั้นทางที่น่าจะเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ เราควรกินอาหารให้ครบ 5หมู่ กินให้หลากหลายชนิด ไม่ซ้ำซาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ให้เกิดโรคอ้วน และทำจิตใจให้สบาย

แหล่งข้อมูล:

  1. 'Superfood' myths raise false hopes of curing cancer. http://www.dailymail.co.uk/health/article-2051247/Superfood-myths-raise-false-hopes-curing-cancer.html [2014, February 1].
  2. Superfood. http://en.wikipedia.org/wiki/Superfood [2014, February 1].