ซื้อเสื้อผ้ามือสอง ต้องระวังโรคติดเชื้อ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

นายแพทย์สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวเตือนว่า แม้จะไม่ได้มีกฎเหล็กที่ บอกกันตายตัวว่าเสื้อผ้ามือสองนั้น ควรนำมาซัก หรือถึงขั้นต้มให้สะอาด ก่อนนำมาใส่ แต่คนที่เป็นเจ้าประจำการช้อปเสื้อผ้า มือสอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความประหยัด หรือแฟชั่นแบบดั้งเดิม (Vintage) ก็ตาม ควรนำเสื้อผ้ามือสองที่ช้อปมาซักด้วย น้ำอุ่นและยาฆ่าเชื้อโรค แล้วตามด้วยการรีดทั้งด้านในและนอก

หากไม่ทำเช่นนี้ก่อนนำมาใส่ มีความเป็นไปได้สูงว่าคุณอาจอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคผิวหนังอักเสบ โรคหิด และโรคเชื้อราในผิวหนัง ที่สามารถแพร่สู่กันได้ รู้พิษภัยกันอย่างนี้แล้ว ใครที่คิดจะซื้อเสื้อผ้ามือสองมาใส่รับหน้าหนาวก็คง ต้องระวังกันหน่อยแล้ว แม้ว่ามีราคาถูก ประหยัดกว่า เสื้อผ้าใหม่ที่วางจำหน่ายตามห้างร้านทั่วไป แต่ก็อาจไม่คุ้มค่าในที่สุด

สำหรับโรคเชื้อราในผิวหนัง (Fungal infections) นั้นเกิดจากเชื้อรา (Fungus) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ (Microorganism) ชนิดหนึ่ง สาเหตุหลักของการเกิดโรคเชื้อราในผิวหนัง เกิดจากการใส่เสื้อผ้ามือสองที่ไม่สะอาด หรือการใส่เสื้อผ้าที่แนบเนื้อ และรัดรูปเกินไป จนเกิดการติดเชื้อ กลาก (Tinea) อาทิ โรคเชื้อราบริเวณขาหนีบ (Jock itch)

ตามชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า เชื้อรานี้มักเกิดกับผู้ชาย เป็นอาการคัน แดงเป็น ปื้นบริเวณ ขาหนีบ ส่วนโรคจากการติด เชื้อยีสต์ ได้แก่ โรคอวัยวะเพศหญิง โดยเฉพาะเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal thrush) ซึ่งมีอาการตกขาวที่มีลักษณะขาวข้น อาการระคาย เคืองและคันที่อวัยวะเพศ และอวัยวะเพศแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ

การรักษาโรคเชื้อราในผิวหนังดังกล่าวนั้น เริ่มต้นด้วยการหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองตลอดชีวิต โดยให้แพทย์ที่ดูแลคุณเป็นประจำประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อรา เพื่อมีการตรวจวิเคราะห์ (Diagnostic test) การติดเชื้อราและสภาวะที่ก่อให้เกิดเชื้อ แต่เนิ่นๆ ส่วนวิธีการรักษา ได้แก่

  • กลั้วคอด้วยน้ำยาบ้วนปากชนิดมียาฆ่าเชื้อ (Antiseptic mouth wash) กรณีติดเชื้อราในช่องปาก (Oral thrush)
  • ตรวจวิเคราะห์และทดสอบโรคที่เชื้อราเป็นสาเหตุหลัก อาทิ เอชไอวี/เอดส์ (HIV/AIDS) และโรคเบาหวาน (Diabetes) การรักษาผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจแก้ปัญหาการติดเชื้อได้ และอาจจำเป็นต่อการลดความเสี่ยงของการเกิดซ้ำอีก (Recurrent)
  • การกินโยเกิร์ต หรืออาหารเสริม (Acidophilus supplement) ซึ่งอาจช่วยแก้ไขความสมดุลของจุลชีพ(Balance of microorganisms) ในปากและในทางเดินอาหาร (Digestive tract)
  • การใช้ยา ซึ่งรวมทั้งที่มีใบสั่งแพทย์ (Prescription) ให้ทายาเฉพาะที่ (Topical) หรือยาต้านเชื้อราชนิดกิน (Oral antifungal) อาทิ ยา Fluconazole

ในกรณีส่วนมาก การติดเชื้อรา สามารถรักษาให้หายได้ในผู้ที่มีสุขภาพดี แต่การติดเชื้อเหล่านี้มักเกิดขึ้นและรักษายากขึ้นในกรณีผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ (Weakened immune system) เช่น จากสภาวะ เอชไอวี/เอดส์ โรคเบาหวาน หรือกินยาประเภทสเตียรอยด์ (Steroid) หรือได้รับยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) และหากเกิดติดเชื้อราซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการของโรคที่ร้ายแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ไม่แสดงออกให้เห็น โดยเฉพาะภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

แหล่งข้อมูล:

  1. โรคติดเชื้อถามหา! เตือนซื้อเสื้อผ้ามือสอง http://www.naewna.com/local/26299 [2012, October 27].
  2. Fungal Infections. http://www.localhealth.com/article/fungal-infections;jsessionid=0281C8070D2D85ED7E8F969FB738A7BF [2012, October 27].