ซีโวฟลูเรน (Sevoflurane)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซีโวฟลูเรน(Sevoflurane หรือ Fluoromethyl hexafluoroisopropyl ether) เป็นยาสลบแบบสูดพ่นโดยต้องใช้เครื่องพ่นยาที่ควบคุมแรงดันหรือที่เรียกว่า วาโพไรเซอร์ (Vaporizer) จะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในห้องผ่าตัดเท่านั้น ยาซีโวฟลูเรนมีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ไม่ใช่วัตถุระเบิด ระเหยง่ายและไม่กัดโลหะอย่างสแตนเลส ขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาซีโวฟลูเรน ตัวยาจะยับยั้งการนำส่งกระแสประสาท ทำให้ร่างกายหมดสติรวมถึงไม่สามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดจากหัตถการผ่าตัด การให้ยาผู้ป่วยเพียง 2–3 นาที ตัวยาก็จะเริ่มออกฤทธิ์

ยาซีโวฟลูเรนจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ต่ำมาก ทำให้มีปริมาณยาที่ส่งไปทำลายยังตับน้อยกว่า 5% ยานี้ส่วนมากจะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านมากับลมหายใจ และบางส่วนมาทางปัสสาวะ การหยุดสูดดยาซีโวฟลูเรนจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสติเป็นปกติภายในระยะเวลาไม่นาน

ยาซีโวฟลูเรนเป็นยาสลบที่สามารถใช้ได้ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ แพทย์ พยาบาลจะต้องควบคุมสัญญาณชีพต่างของผู้ป่วยร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิต อัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจ และรวมถึงการตรวจสอบระดับออกซิเจนในเลือด การเปลี่ยนแปลงของระดับคาร์บอนไดออกไซในเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องประเมินช่องทางเดินหายใจของผู้ป่วยว่า ทำงานเป็นปกติ ไม่เกิดการตีบหรือมีสิ่งกีดขวางใดๆเกิดขึ้น

ก่อนได้รับยาซีโวฟลูเรน แพทย์จะทำการสัมภาษณ์สอบถามผู้ป่วยถึงโรคประจำตัวต่างๆที่เป็นอยู่ ด้วยยาซีโวฟลูเรนสามารถส่งผลกระทบและทำให้โรคประจำตัวบางประเภทเกิดความรุนแรงขึ้นมาได้ โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีภาวะไข้สูงอย่างร้าย (Malignant hyperthermia) ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคลมชัก รวมถึงสตรีมีครร/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร สำหรับผู้ที่มีการใช้ยาอื่นชนิดใดๆอยู่ก่อนก็ตาม จะต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล ทราบทุกครั้งก่อนเข้ารับการผ่าตัดเพราะยา ซีโวฟลูเรนสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาอื่นๆหลายชนิด เช่น การใช้ซีโวฟลูเรนร่วมกับยา Amiodarone, Droxidopa, หรือ Labetalol, สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงทำให้ความดันโลหิตต่ำหรือสูง รวมถึงเกิดอาการแทรกซ้อนต่อการทำงานของหัวใจอีกด้วย

หลังได้รับยาซีโวฟลูเรน ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)เกิดขึ้น อาทิ เช่น ตัวสั่น วิงเวียน ง่วงนอน น้ำลายมาก หรือ*บางกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาซีโวฟลูเรนเกินขนาดจะก่อให้เกิด ภาวะกดการหายใจ ระบบการไหลเวียนของเลือดผิดปกติ หากพบเห็นเหตุการณ์แบบนี้ แพทย์ พยาบาล จะช่วยเหลือโดยหยุดการให้ยาซีโวฟลูเรนและให้ออกซิเจนบริสุทธิ์กับผู้ป่วยเพื่อช่วยปรับสภาพการหายใจ การทำงานของหัวใจและกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตให้กลับมาเป็นปกติ

อนึ่ง ยังมีคำเตือนที่แพทย์ พยาบาล มักจะแนะนำผู้ป่วยหลังได้รับยาซีโวฟลูเรน เช่น

  • หากยังมีอาการ ง่วงนอน วิงเวียน ห้ามมิให้ผู้ป่วยขับขี่ยวดยานพาหนะหรือทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากการใช้ยาซีโวฟลูเรนดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็น ส่วนประกอบด้วยจะทำให้มีภาวะกดการทำงานของสมอง/กดระบบประสาทส่วนกลางมากขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้บรรจุให้ยาซีโวฟลูเรนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ สามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและของเอกชน และหากผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือจากเภสัชกรตามสถานพยาบาลได้โดยทั่วไป

ซีโวฟลูเรนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซีโวฟลูเรน

ยาซีโวฟลูเรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ โดยใช้เป็นยาสลบเพื่อหัตถการผ่าตัดของผู้ใหญ่และเด็ก

ซีโวฟลูเรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซีโวฟลูเรนเป็นยาสลบที่สามารถระเหยได้ หลังการบรรจุยานี้เข้าเครื่องดมยาสลบ ตัวยานี้จะถูกขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยภายในไม่กี่นาที จากนั้นจะเริ่มออกฤทธิ์ยับยั้งการนำกระแสประสาทของการรับรู้ความรู้สึกของสมอง และทำให้ร่างกายหมดสติ ด้วยสภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้ต่อความเจ็บปวดจากการผ่าตัด จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

ซีโวฟลูเรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซีโวฟลูเรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาประเภทสารละลาย ที่มีขนาดบรรจุ 250 มิลลิลิตร/ขวด

ซีโวฟลูเรนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาซีโวฟลูเรนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นให้ยาซีโวฟลูเรนด้วยเครื่องดมยาสลบโดยควบคุมอัตราการให้ยาได้สูงถึง 5% ร่วมกับออกซิเจน หรือกับออกซิเจนที่ผสมยาดมสลบ Nitrous oxide ขนาดยาที่ใช้คงระดับการสลบตลอดการผ่าตัดอยู่ที่ 0.5–3%
  • เด็ก: อาจใช้ยาซีโวฟลูเรนได้ถึง 7% ร่วมกับออกซิเจน หรือกับออกซิเจนที่ผสม ยาดมสลบ Nitrous oxide แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง:

  • ระหว่างการให้ยาซีโวฟลูเรน แพทย์ พยาบาล ต้องควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยตลอดเวลา
  • หลังการได้รับยาสลบนี้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ ภายในวันเดียวกัน หรือรอพักฟื้นที่สถานพยาบาล

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซีโวฟลูเรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซีโวฟลูเรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับ ยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ซีโวฟลูเรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซีโวฟลูเรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับเม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำลง เกิดภาวะเลือดออกง่าย เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลายออกมาก ปากแห้ง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย สับสน นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง อาการวูบ หมดสติ เกิดลมชัก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เร็ว ความดันโลหิต-สูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจหยุดเต้น
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดผิดปกติ มีภาวะตับอักเสบ ตับวาย ตับแข็ง เกิดดีซ่าน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำ เกลือฟอสเฟตในเลือดต่ำ ร่างกายมีภาวะเป็นกรด
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อกระตุก
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด ภาวะปัสสาวะน้อย
  • ผลต่อตา: เช่น ความชัดเจนในการมองเห็นน้อยกว่าปกติ เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ หายใจขัด /หายใจลำบาก/ หลอดลมหดเกร็งตัว เสมหะมาก หายใจเร็วกว่าปกติ

มีข้อควรระวังการใช้ซีโวฟลูเรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซีโวฟลูเรน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้มีภาวะ Malignant hyperthermia
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติตับทำงานผิดปกติหลังได้รับการดมยาสลบ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนแปลง หรือยาตกตะกอน
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็ก ต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • หากพบความผิดปกติหลังการได้รับยานี้ ให้รีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล โดยเร็ว
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซีโวฟลูเรนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซีโวฟลูเรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซีโวฟลูเรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาซีโวฟลูเรนร่วมกับยา Epinephrine ด้วยจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดอาการแน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก ตาพร่า คลื่นไส้ และมีอาการลมชักตามมา
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีการใช้ยา Fentanyl ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ใช้บำบัดอาการปวด หากจำเป็นต้องใช้ยาซีโวฟลูเรน แพทย์จะลดขนาดการใช้ยาซีโวฟลูเรนลงมาอย่างเหมาะสม ด้วยยาทั้ง 2 ตัวมีฤทธิ์ระงับปวดเสริมกันอยู่แล้ว
  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาซีโวฟลูเรนร่วมกับยา Droperidol ด้วยจะทำให้เกิดภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ซีโวฟลูเรนร่วมกับยา Isocarboxazid ด้วยจะส่งผลกระทบต่อ ความดันโลหิตที่อาจสูงขึ้นหรืออาจต่ำลง ทางคลินิกแนะนำให้เว้นระยะของการใช้ยาทั้ง 2 ตัวนี้ห่างกัน 10–14 วัน

ควรเก็บรักษาซีโวฟลูเรนอย่างไร?

ควรเก็บยาซีโวฟลูเรนภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ซีโวฟลูเรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซีโวฟลูเรนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Sefether (เซเฟเทอร์)Lunan Better Pharm
Sevoflurane Baxter (ซีโวฟลูเรน แบกซ์เตอร์)Baxter Healthcare
Sevorane (ซีโวเรน)AbbVie
Sojourn (โซเจอร์น)Piramal

บรรณานุกรม

  1. http://www.baxterhealthcare.com.au/downloads/healthcare_professionals/cmi_pi/sevoflurane_pi.pdf [2017,Feb18]
  2. https://www.drugs.com/pro/sevoflurane.html [2017,Feb18]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01236 [2017,Feb18]
  4. https://en.wikipedia.,org/wiki/Sevoflurane [2017,Feb18]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/sevoflurane?mtype=generic [2017,Feb18]
  6. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/193#item-9074 [2017,Feb18]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/sevoflurane-index.html?filter=3#E [2017,Feb18]
  8. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=sevoflurane [2017,Feb18]