“ซีวีเอส” โรคฮิตของคนเล่นคอมฯ (ตอนที่ 1)

ซีวีเอส

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การติดต่อสื่อสารปัจจุบันในรูปแบบสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตและคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน เนื่องจากมีความทันสมัยและสะดวกรวดเร็ว

แต่การใช้งานที่มากเกินความจำเป็นอาจส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งหนึ่งในโรคที่อาจส่งกระทบต่อสุขภาพ คือ "คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม" (Computer Vision Syndrome) หรือ "โรคซีวีเอส"

โดยคนที่ทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เช่น เกินสองถึงสามชั่วโมง มักจะมีอาการปวดตา แสบตา ตามัว และบ่อยครั้งที่จะมีอาการปวดหัวร่วมด้วย อาการทางสายตาเหล่านี้เกิดจากการจ้องดูข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป

อาการเหล่านี้พบได้ถึงร้อยละ 75 ของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี อาการในบางคนอาจเป็นเล็กๆ น้อยๆ ไม่บั่นทอนการทำงาน หรือพักการใช้คอมพิวเตอร์สักครู่ก็หายไป บางคนอาจต้องว่างเว้นการใช้เป็นวันก็หายไป บางรายอาจต้องใช้ยาระงับอาการ

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สาเหตุของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมเกิดจาก

  • การใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือนานๆ และไม่ค่อยกระพริบตา หากเราอ่านหนังสือหรือนั่งจ้องคอมพิวเตอร์ อัตราการกระพริบจะลดลง ประกอบกับแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ตาเมื่อยล้า ทั้งแสงจ้าและแสงสะท้อนมายังจอภาพ
  • แสงสว่างไม่พอเหมาะ มีไฟส่องเข้าหน้าหรือหลังจอภาพโดยตรง หรือแม้แต่แสงสว่างจากหน้าต่างปะทะหน้าจอภาพโดยตรง ก่อให้เกิดแสงจ้าและแสงสะท้อนเข้าตาผู้ใช้ ทำให้เมื่อยล้าตาง่าย
  • ระยะทำงานที่ห่างจากจอภาพไม่เหมาะสม มีสายตาผิดปกติ เช่น สายตายาวไม่มากโดยการทำงานตามปกติไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่ถ้ามาทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์จะก่ออาการเมื่อยล้าตาได้
  • บางรายมีโรคตาบางอย่างประจำตัวอยู่ เช่น ต้อหินเรื้อรัง ม่านตาอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง ตลอดจนโรคทางกาย เช่น ไซนัสอักเสบ โรคหวัด ภูมิแพ้เรื้อรัง หรือ ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อต้องปรับสายตามากเวลาใช้คอมพิวเตอร์ จึงก่อให้เกิดอาการเมื่อยตาได้ง่าย

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ไขกันและป้องกันคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม คือ

  • ฝึกกระพริบบ่อยๆ ตาขณะทำงานหน้าจอ และหากแสบตามาก อาจใช้น้ำตาเทียมช่วย ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • ควรปรับห้องและบริเวณทำงาน อย่าให้มีแสงสะท้อนจากหน้าต่าง หลอดไฟบริเวณเพดานห้อง ไม่ควรให้แสงสะท้อนเข้าตา และไม่หันจอภาพเข้าหน้าต่าง ควรใช้แผ่นกรองแสงวางหน้าจอหรือใส่แว่นกรองแสง จัดวางคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม ในระยะที่ตามองได้สบายๆ
  • ปรับเก้าอี้นั่งให้พอเหมาะ ถ้าต้องใช้คอมพิวเตอร์นานๆต่อเนื่อง ควรปรึกษาจักษุแพทย์ หากมีสายตาผิดปกติหรือโรคตาบางอย่างอยู่ ควรแก้ไขและรักษาโรคตาที่เป็นอยู่ควบคู่ไปด้วย
  • หากงานในหน้าที่ต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทุก 1 - 2 ชม. ควรมีการพักสายตา โดยละสายตาจากหน้าจอ แล้วมองออกไปไกลๆ หรือหลับตาสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่

แหล่งข้อมูล

  1. ระวังปิดไฟเล่นสมาร์ทโฟน – คอมฯ เสี่ยงโรคซีวีเอส http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000128793 [2014, November 15].