ซีตส์ไขมันผิวหนัง (Sebaceous cyst หรือ Epidermal inclusion cyst)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ซีสต์ไขมันผิวหนัง หรือ Sebaceous cyst หรือ Epidermal cyst หรือ Keratin cyst หรือ Epidermoid cyst หรือ Epidermal inclusion cyst เป็นซีสต์ (Cyst) ของผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด มีลักษณะเป็นก้อนซีสต์ที่มีสารสีขาวคล้ายชีส/เนย (Cheese) หรือไขมันอยู่ภายใน จึงเป็นที่มาของชื่อที่คลาดเคลื่อนจากสาเหตุของโรคที่แท้จริง ซึ่งคำว่า Sebaceous นั้นแปลว่าต่อมไขมัน แต่ที่มาแท้จริงแล้ว ชีส/เนยนี้ไม่ได้มาจากต่อมไขมันแต่อย่างใด ทั้งนี้ซีสต์ไขมันผิวหนังนี้เกิดมาจากเซลล์ผิวหนังชั้นนอก (Epidermal cell) ที่ฝังตัวลงในผิวหนังชั้นหนังแท้แล้วผลิตสารเคอราติน (Keratin) สะสมจนเป็นซีสต์ขึ้น

กลไกการเกิดซีสต์ไขมันผิวหนังเป็นอย่างไร?

ซีตส์ไขมันผิวหนัง

ซีสต์ไขมันผิวหนัง มีกลไกเกิดจากเซลล์ผิวหนังชั้นนอก (Epidermal cell) อยู่ผิดที่ในชั้นหนังแท้ จึงสร้างและสะสมเคอราติน (ที่เป็นสารของผิวหนังชั้นนอก) เป็นสีขาวคล้ายชีส/เนยภายในผิวหนังชั้นใน จึงก่อให้เกิดเป็นก้อนซีสต์ ที่เรียกว่า “ซีสต์ไขมันผิวหนัง”

อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดซีสต์ไขมันผิวหนัง?

สาเหตุที่เซลล์ผิวหนังชั้นนอกไปอยู่ผิดที่นั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การอยู่ผิดตำแหน่งของเซลล์ผิวหนังที่เป็นแต่กำเนิด
  • การบาดเจ็บของผิวหนังจากสาเหตุต่างๆ เช่น การเกิดแผล เมื่อมีการซ่อมแซม เซลล์ต่าง ๆจึงอาจเกิดผิดที่ได้
  • การอุดตันของท่อไขมันหรือต่อมเหงื่อ
  • การได้รับรังสียูวี (UV: Ultraviolet light)/แสงแดดแรงๆ ต่อเนื่อง

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดซีสต์ไขมันผิวหนัง?

ซีสต์ไขมันผิวหนัง พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงแน่ชัด แต่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเป็นสองเท่า และพบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 30-40 ปี นอกจากนั้น คือ พบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีประวัติเป็นสิวมาก

ซีสต์ไขมันผิวหนังมีอาการอย่างไร?

ซีสต์ไขมันผิวหนัง จะมีลักษณะมองเห็นและคลำได้เป็นก้อนกลม ขอบเรียบ สีเดียวกับผิว หนัง ไม่มีอาการ ก้อนซีสต์มีได้หลายขนาด ตั้งแต่เป็นมิลลิเมตรไปจนถึงเป็นหลายๆเซนติเมตร(มีรายงานได้ถึง 5 เซนติเมตร) อาจมีก้อนเดียว หรือหลายๆก้อน ก้อนสามารถจับให้เคลื่อนไปมาได้เล็กน้อย พบได้ทุกบริเวณของผิวหนัง ทั้งใบหน้า หนังศีรษะ แขนขา ลำตัว และอวัยวะเพศ อาจพบรูเปิดจากก้อนมีสารภายในสีขาวคล้ายชีส/เนย มีกลิ่นเหม็น

เมื่อไรควรไปพบแพทย์?

หากมีก้อนผิดปกติที่ผิวหนังที่โตตั้งแต่ 1 เซนติเมตรขึ้นไป สามารถพบแพทย์เพื่อทำการตรวจได้ เนื่องจาก ก้อนที่ผิวหนังนั้นมีหลายประเภท เช่น ก้อนเนื้องอกไขมัน ก้อนเนื้อพัง ผืด สิว หรืออาจต้องแยกจาก ก้อนต่อมน้ำเหลือง หรือ ก้อนมะเร็งผิวหนัง

แพทย์วินิจฉัยซีสต์ไขมันผิวหนังได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยซีสต์ไขมันผิวหนังได้จาก ลักษณะเฉพาะของซีสต์ที่มีรูเปิดและสารภายในสีขาวคล้ายชีส/เนย หากไม่สามารถยืนยันการวินิจฉันได้ แพทย์มักแนะนำผ่าตัดซีสต์เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันการวินิจฉัยว่า เป็นซีสต์หรือก้อนสาเหตุจากอะไร

รักษาซีสต์ไขมันผิวหนังอย่างไร?

เนื่องจากซีสต์ไขมันผิวหนังไม่มีอาการ และไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง จึงไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่หากต้องการกำจัดก้อนซีสต์ สามารถทำได้โดยการผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการอักเสบติดเชื้อ การรักษาคือการให้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการผ่าเอาสารภายในซีสต์ออก อาจร่วมกับการฉีดยาต้านการอักเสบเข้าไปในซีสต์ด้วย

ซีสต์ไขมันผิวหนังมีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรค คือ ซีสต์ไขมันผิวหนัง ไม่ก่ออาการ ไม่เป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิต โอกาสเกิดเป็นมะเร็งมีน้อยมาก ประมาณเพียง 0.045%

อย่างไรก็ตาม เมื่อรักษาด้วยการผ่าตัด หากผนังของซีสต์ตัดออกไม่หมด ซีสต์สามารถเกิดเป็นซ้ำที่ตำแหน่งเดิมได้

ซีสต์ไขมันผิวหนังก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบได้จากซีสต์ไขมันผิวหนัง คือ การติดเชื้อในซีสต์ ก่อให้เกิดอาการ บวม แดงเจ็บที่ก้อน อาจมีไข้ได้ ซึ่งรักษาด้วยวิธีการที่กล่าวแล้วในหัวข้อ วิธีรักษา

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นซีสต์ไขมันผิวหนัง คือ ไม่ควร แคะ แกะ เกา หรือพยายามกดสารสีขาวออกจากซีสต์ด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาได้ และถ้ากังวลในการมีก้อน/ซีสต์ หรือ เมื่อซีสต์โตขึ้น ควรพบแพทย์

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

เมื่อเคยพบแพทย์ด้วยเรื่องซีสต์ ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ ซีสต์โตขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา, เกิดก้อนขึ้นซ้ำบริเวณที่ผ่าตัดไปแล้ว, ก้อนมีแผล, หรือรูเปิดมีสารสีขาวไหลออกมาตลอดเวลา หรือมีหนอง

ป้องกันซีตส์ไขมันผิวหนังได้อย่างไร?

ไม่มีวิธีป้องกันซีสต์ไขมันผิวหนังได้เต็มร้อย แต่สามารถลดโอกาสเกิดได้ โดย

  • รักษาความสะอาดผิวหนัง ป้องกันการเกิดสิว และ/หรือแผล
  • ใช้เครื่องสำอางผิวทุกชนิดเป็นชนิดปลอดไขมัน (Oil free)
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด

บรรณานุกรม

  1. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร . Dermatology 2020.พิมพ์ครั้งที่ 1.บริษัท โฮลิสติก พับลิชิ่ง จำกัด .
  2. Lowell A.Goldsmith,Stephen I.Katz,BarbaraA.Gilchrest,Amy S.Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick Dermatology in general medicine .eight edition.McGraw hill
  3. Journal of Medical Cases, ISSN 1923-4155 print, 1923-4163 online:http://www.journalmc.org/index.php/JMC/article/view/626/386 [2014,March29].
  4. Epidermal inclusion cyst http://emedicine.medscape.com/article/1061582- overview#showall [2014,March29].