ซิลอสทาซอล (Cilostazol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซิลอสทาซอล(Cilostazol) เป็นยาในกลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (Phosphodiesterase inhibitor) ทางคลินิกนำมาบำบัดอาการปวดขาเป็นพักๆด้วยเหตุขาขาดเลือด (Intermittent claudication,อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อาการกะเผลกเหตุปวดประสาท/Neurogenic Claudication) ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในผู้ป่วยด้วยโรคของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย/ส่วนแขน-ขา(Peripheral vascular disease)ที่ทำให้สมรรถภาพของร่างกายสูญเสียไป

ยาซิลอสทาซอลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด และทำให้หลอดเลือดฝอยขยายตัวได้โดยตรง ส่งผลให้มีการไหลเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงขาได้อย่างเพียงพอ รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ เป็นยาชนิดรับประทาน

หลังการดูดซึมยาซิลอสทาซอลจากระบบทางเดินอาหารเข้ากระแสเลือด ตัวยาซิลอสทาซอลจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ 95 – 98% และจะถูกลำเลียงไปทำลายที่ตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 11 – 13 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกไปกับปัสสาวะ

การใช้ยาซิลอสทาซอล เพื่อบำบัดอาการปวดขาด้วยเหตุขาขาดเลือด อาจต้องใช้เวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นประสิทธิผลของการรักษา แต่บางกรณีก็อาจต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 12 สัปดาห์กว่าอาการจะดีขึ้น อย่างไรก็ตามหากอาการไม่ทุเลาลงภายใน 3 เดือน ผู้ป่วยควรต้องหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ประเมินการรักษาอีกครั้ง

ทั้งนี้ มีข้อจำกัดและข้อควรระวังบางประการของการใช้ยาซิลอสทาซอลที่ผู้บริโภคควรทราบ ดังนี้

  • ห้ามใช้ซิลอสทาซอลกับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในระยะรุนแรง
  • การใช้ยานี้อาจกระตุ้นให้มีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือมีอาการความดันโลหิตต่ำ
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นได้
  • สตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยา หลายประเภทซึ่งรวมยาซิลอสทาซอลด้วย ดังนั้นการใช้ยาต่างๆของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  • การรับประทานยาซิลอสทาซอล ควรรับประทานในเวลาเดิม เพื่อให้ยานี้ในร่างกายมีระดับความเข้มข้นที่สม่ำเสมอ เพื่อมีประสิทธิภาพในการรักษาได้ดีที่สุด
  • หากรู้สึกอาการป่วยดีขึ้น อาจยังต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์
  • ยานี้จะยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือด ดังนั้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดบาดแผลของร่างกาย เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกง่ายและเลือดออกแล้วหยุดยาก
  • ยาซิลอสทาซอล อาจทำให้ความแข็งแรง/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่สามารถต่อต้านเชื้อโรคต่างๆด้อยลงไป ผู้ป่วยจึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้น ซึ่งระหว่างได้รับยานี้ หากพบอาการเจ็บคอ มีไข้ หนาวสั่น ผื่นคันขึ้น ควรรีบแจ้งแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • การใช้ยาซิลอสทาซอล จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง เพราะจะสุ่มเสี่ยงต่อการได้รับยานี้เกินขนาด โดยอาจสังเกตได้จาก ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดศีรษะรุนแรง ท้องเสีย ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งหากเกิดอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อนึ่ง คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้ระบุให้ยาซิลอสทาซอล อยู่ในกลุ่มยาอันตราย การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว

ซิลอสทาซอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซิลอสทาซอล

ยาซิลอสทาซอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดอาการปวดขาด้วยเหตุขาขาดเลือด (Intermittent claudication, อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อาการกะเผลกเหตุปวดประสาท/Neurogenic Claudication)

ซิลอสทาซอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซิลอสทาซอล มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า ฟอสโฟไดเอสเทอเรส(Phosphodiesterase,เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการหด/ขยายตัวของหลอดเลือด และการทำงานของเกล็ดเลือด)โดยมีผลต่อระดับเซลล์ต่างๆ ทำให้เกิดการเพิ่มของสารประกอบบางตัว เช่น Cyclic adenosine monophosphate ที่ส่งผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือดและของหลอดเลือด โดยยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดและทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้เกิดการบำบัดอาการโรคตามสรรพคุณ

ซิลอสทาซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซิลอสทาซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาผงสำหรับผสมน้ำรับประทาน ขนาด 0.5 กรัม

ซิลอสทาซอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซิลอสทาซอลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง โดยรับประทานยา ก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง หรือหลังรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ควรรับประทานยานี้ในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน และในระยะเวลาตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซิลอสทาซอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซิลอสทาซอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซิลอสทาซอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาซิลอสทาซอลตรงเวลาและรับประทานต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์

ซิลอสทาซอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซิลอสทาซอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น คัดจมูก เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง

มีข้อควรระวังการใช้ซิลอสทาซอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซิลอสทาซอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มี คำสั่งจากแพทย์
  • หลังการใช้ยานี้ไปแล้ว 3 เดือน ถ้าอาการป่วยไม่ดีขึ้น ต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • หากเกิดอาการแพ้ยานี้ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ตัวบวม ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • แจ้งแพทย์ถึงโรคประจำตัวต่างๆทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษา/ได้รับยาต่างๆรวมถึงยาซิลอสทาซอล
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานยาต่างๆ อาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย และต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซิลอสทาซอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซิลอสทาซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซิลอสทาซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาซิลอสทาซอลร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดต่างๆ ด้วยการใช้ยาร่วมกัน อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา
  • การใช้ยาซิลอสทาซอลร่วมกับยา Ampreravir, Cobicistat, อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆของยาซิลอสทาซอลสูงขึ้น อย่างเช่น วิงเวียน เป็นลม คลื่นไส้ ท้องเสีย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาซิลอสทาซอลร่วมกับยา Nifedipine อาจทำให้ระดับยาซิลอสทาซอลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาซิลอสทาซอลสูงขึ้นตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาซิลอสทาซอลร่วมกับยา Ibuprofen อาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาซิลอสทาซอลอย่างไร?

ควรเก็บยาซิลอสทาซอลภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ซิลอสทาซอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซิลอสทาซอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cilosol (ซิโลซอล)Unison
Citazol (ซิทาซอล)Standard Chem & Pharm
Pletaal (พลีทาล) Otsuka

อนึ่ง ยาชื่อการค้าในต่างประเทศของยานี้ เช่น Pletal, Cilotab, Cutaz, Pletoz, Stiloz

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cilostazol [2016,July30]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/pletaal/?type=brief [2016,July30]
  3. https://www.drugs.com/cdi/cilostazol.html [2016,July30]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/cilostazol-index.html?filter=3&generic_only= [2016,July30]