ซินโคนิซึม (Cinchonism)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ต้นซิงโคนา (Cinchona) เป็นต้นไม้พื้นเมืองในแถบของเทือกเขาแอนดีส (Andes)ของทวีปอเมริกาใต้ ในสมัยก่อนจะนำเปลือกสีน้ำตาลจากลำต้นมาบดผสมกับน้ำเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรีย/โรคมาลาเรีย ด้วยต้นซิงโคนาสามารถผลิตสารจำพวกแอลคาลอยด์ (Alkaloids)ได้หลายชนิด จนตอนหลังมีการค้นพบว่าสารแอลคาลอยด์ที่มีความสำคัญในทางยาคือ สารควินิน (Quinine) จึงมีความต้องการของต้นซิงโคนายิ่งขึ้น นำมาสู่การแพร่ขยายบริเวณเพาะปลูกเข้ามาสู่ทวีปยุโรปและเอเชียเพื่อสนองต่อความต้องการสารควินินเพื่อนำมาผลิตเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย

แม้ว่าในปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียมีจำนวนน้อยลง ยาควินินยังถือเป็นยาสำคัญชนิดหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคนี้มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี พบว่าผู้ป่วยบางกลุ่มอาจประสบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)หรือพิษจากยาควินินได้ เรียกว่า “ซินโคนิซึม/ภาวะซินโคนิซึม/กลุ่มอาการซินโคนิซึม(Cinchonism) หรือ ควินิซึม(Quinism) ” ซึ่งอาจมาจากการรับประทานยาควินินหรือยาควินิดีน(Quinidine) รวมไปถึงการได้รับสารAlkaloidsจากต้นซิงโคนาเองก็ได้ ซึ่งหากมีอาการรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ซินโคนิซึมเกิดได้อย่างไร/มีสาเหตุมาจากอะไร?

ซินโคนิซึม

ภาวะซินโคนิซึมเกิดจากการได้รับสารแอลคาลอยด์(สารฯ)หรือยาควินิน (Quinine)หรือยาควินิดีน (Quinidine)โดยตรง หรือผ่านการรับประทานสิ่งที่มีส่วนผสมของต้นซิงโคนา(Cinchona) เกินขนาด อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าผู้ป่วยบางรายที่ได้รับยาในขนาดยาปกติก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้

ภาวะซิงโคนิซึมมีกลุ่มเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?

โดยทั่วไปแล้ว กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซิงโคนิซึมคือกลุ่มบุคคลที่ได้รับยาควินิน หรือยาควินิดีน เกินขนาด หรือได้รับสารจากต้นซิงโคนาเข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก

ภาวะซินโคนิซึมมีอาการอย่างไร?

ภาวะซินโคนิซึมเกิดกับผู้ป่วยแทบทุกรายที่ได้รับยาควินิน และ/หรือยาควินิดีน เกินขนาด หรือได้รับสารจากต้นซิงโคนาจำนวนมาก เริ่มต้นจากอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย หูอื้อ เกิดอาการบ้านหมุน การได้ยินเสียงเปลี่ยนไป หรือได้ยินเสียงไม่ชัดเจน เหงื่อออกมาก เกิดอาการร้อนวูบวาบ รวมถึงมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน

หากมีอาการรุนแรง จะทำให้เกิดอาการ หูดับ มองไม่เห็น การเต้นของหัวใจผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ การทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ หัวใจล้มเหลว และยังมีผลต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม สูญเสียการควบคุมสติ สับสน ซึมเศร้า รวมไปถึงความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก ในผู้ป่วยบางรายพบว่า มีการทำงานของไตล้มเหลว และเม็ดเลือดแดงแตกร่วมด้วย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

หากกำลังใช้ ยาควินิน และ/หรือยา ควินิดีน หรือได้รับสารที่มาจากต้นซิงโคนา แล้วเกิดอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ”อาการฯ” ควรเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดทันที/ฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยภาวะซินโคนิซึมอย่างไร?

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะซินโคนิซึมได้จาก อาการของผู้ป่วย ร่วมกับประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติการได้รับสารหรือรับประทานสารชนิดต่างๆเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือดหาระดับของสารควินินในกระแสเลือด การตรวจเม็ดเลือด (CBC) การตรวจการทำงานของหัวใจ(เช่น การตรวจ ECG) และการตรวจเลือดดูการทำงานของไตร่วมด้วย

รักษาภาวะซินโคนิซึมอย่างไร?

ภายหลังจากแพทย์วินิจฉัยได้แล้วว่าเป็นภาวะซินโคนิซึม การรักษาที่สำคัญคือ หยุดยาควินินหรือยาควินิดีน หากผู้ป่วยเพิ่งรับประทานยาหรือได้รับสารฯเข้าไปภายในระยะเวลาประมาณ 1ชั่วโมง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาถ่ายชนิดที่เรียกว่า Activated Charcoal เพื่อช่วยดูดซับสารพิษ(ยาหรือสารที่ก่ออาการ) ส่วนการรักษาอื่นๆ จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการตามที่ผู้ป่วยเป็น เช่น การให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนกรณีมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก การล้างไตกรณีมีไตวาย/ไตล้มเหลว เป็นต้น

ภาวะซินโคนิซึมก่อผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนอะไร?

อาการต่างๆที่เกิดขึ้นจากภาวะซินโคนิซึม ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติได้เมื่อหยุดการใช้ ยาควินิน หรือยาควินิดีน หรือหยุดสารฯที่เป็นสาเหตุของภาวะนี้

แต่อย่างไรก็ดี พิษจากยาจำพวกควินิน ควินิดีน อาจส่งผลต่อระบบการทำงานของหัวใจหรือของไตได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และ/หรือโรคไตได้

การพยากรณ์โรคของภาวะซินโคนิซึมเป็นอย่างไร?

ภาวะซินโคนิซึมนี้ ได้รับการรายงานไม่มากนัก อย่างไรก็ดี พบว่าผู้ที่ได้รับยาควินิน หรือยา ควินิดีน หรือสารจากต้นซิงโคนา เกินขนาดจะเกิดกลุ่มอาการนี้ได้

สาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากกลุ่มอาการนี้คือพิษต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด (ภาวะหัวใจวาย/หัวใจล้มเหลว) ผู้ป่วยบางรายพบว่าเกิดปัญหาด้านการมองเห็นแบบถาวร/ตาบอด (ประมาณร้อยละ 27/27%) และความเสี่ยงการเกิดการตาบอดมีมากขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับยาดังกล่าวเกินขนาดในจำนวนมาก ส่วนในเรื่องของการได้ยิน พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะกลับมาได้ยินเสียงภายหลังการหายจากภาวะนี้ไปแล้ว 2-3 วัน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะซินโคนิซึม?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะซินโคนิซึมหลังจากแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ตามัวมากขึ้น หูอื้อมากขึ้น
  • มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น แขนขาบวม ปัสสาวะน้อยลงมาก
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก ท้องเสียมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะซินโคนิซึมอย่างไร?

การป้องกันภาวะซินโคนิซึม ได้แก่

ผู้ป่วยที่ใช้ยาควินิน หรือ ยาควินิดีน ควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่รับประทานยาเกินขนาดที่กำหนด และเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง

ผู้ป่วยควรระลึกเสมอว่า แม้ว่าการได้รับยานี้ในขนาดปกติ ก็อาจเกิดภาวะซึนโคนิซึมได้ จึงควรเฝ้าระวังอาการข้างเคียง/ อาการพิษของยา ตามแพทย์/เภสัชกรแนะนำเมื่อได้รับยานี้ทุกครั้ง และเมื่อเกิดอาการผิดปกติหลังได้รับยานี้ ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที เพื่อได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ที่จะช่วยให้การรักษาได้รับผลที่ดี

บรรณานุกรม

  1. Ian MacGregor Whyte. Robert C. Dart. Medical Toxicology. Antimalarial Agents. Lippincott Williams & Wilkins, 2004;466-73.
  2. Leslie R. Wolf, et al. Cinchonism: Two case reports and review of acute quinine toxicity and treatment. The Journal of Emergency Medicine. 1992;10:295-301.
  3. Qualaquin. Highlights of prescribing information. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/021799s011lbl.pdf [2017,March4]
  4. สุทัศน์ ยกส้าน. ประวัติความเป็นมาของควินิน. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 9 มกราคม 2549 http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9490000002980 [2017,March4]