ซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ความดันออสโมซิส

ซาร์คอยโดซิส(Sarcoidosis) เป็นโรคที่เกิดจากมีการอักเสบชนิดไม่ใช่จากการติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/ อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย แต่อวัยวะที่พบเกิดบ่อยคือที่ ”ปอด” ทั้งนี้ร่างกายจะมีการตอบสนองต่อการอักเสบนี้โดยการสร้างเป็นก้อนเนื้ออักเสบที่ไม่ใช่มะเร็งขึ้นในอวัยวะนั้นๆ เรียกก้อนเนื้อนี้ว่า แกรนูโลมา(Granuloma)

ซาร์คอยโดซิส เป็นโรคยังไม่มีรายงานเกิดในประเทศไทย แต่พบได้บ่อยในสหรัฐอมริกา โดยเฉพาะในคนผิวดำ ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบโรคนี้ได้ 11-34รายต่อประชากร 1แสนคน พบในผู้หญิงประมาณ 2 เท่าของผู้ชาย โรคนี้พบได้ทุกอายุ แต่พบสูงในช่วงอายุ 25-35 ปี และช่วง 45-65 ปี

อนึ่ง เมื่อเกิดโรคที่ปอด(ที่พบบ่อยที่สุด) สามารถแบ่งโรคนี้ตามความรุนแรงได้เป็น 4 ระยะจากน้อยไปหามาก คือ

  • ระยะ0: เอกซเรย์ปอดปกติ
  • ระยะที่1: เอกซเรย์ปอดพบต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดทั้ง 2ข้าง -ระยะที่2: เอกซเรย์ปอดพบต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดทั้ง 2ข้าง ร่วมกับมีการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด/ปอดอักเสบ
  • ระยะที่3: พบเฉพาะมีการอักเสบของปอด อาจพบที่ปอดข้างเดียว หรือ ทั้ง 2 ข้าง
  • ระยะที่4: เกิดมีพังผืดรุนแรงในปอด

สาเหตุ: โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่มีการศึกษาที่ทำให้เชื่อได้ว่า อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย

อาการ: ประมาณ 5%ของผู้ป่วย จะไม่มีอาการ แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพด้วยการเอกซเรย์ปอด กรณี ที่มีอาการ(มีได้หลายอาการพร้อมกัน) ประมาณ 45% มีไข้ และเบื่ออาหาร, ประมาณ 50% มีอาการทางปอด เช่น หายใจลำบากขณะมีการออกแรง ไอเรื้อรัง อาจมีไอเป็นเลือด(พบได้น้อยมากๆ) เจ็บหน้าอก, นอกจากนี้บางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองโตได้ทั่วตัว

การวินิจฉัย: แพทย์วินิจฉัยโรคนี้ได้จาก อาการ ภาพเอกซเรย์ปอด การตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอ แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

การรักษา: ไม่มีการรักษากรณีไม่มีอาการ การรักษากรณีมีอาการ คือ การให้ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs การให้ยากดภูมิคุ้มกัน และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด/แก้เจ็บหน้าอก การให้ออกซิเจนกรณีมีปัญหาทางการหายใจ

การพยากรณ์โรค: ทั่วไปโรคนี้มีการพยากรณ์โรคที่ดี

  • กรณีไม่มีอาการ โรคมักค่อยๆหายไปได้เองโดยไม่ต้องมีการรักษา
  • กรณีมีอาการ แพทย์มักรักษาควบคุมโรคได้ดี แต่มีผู้ป่วยประมาณ 5%ที่โรคลุกลามรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ในระยะ 10 ปีนับจากมีอาการ จากภาวะหายใจล้มเหลวร่วมกับหัวใจล้มเหลว

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sarcoidosis [2017,Nov18]
  2. http://emedicine.medscape.com/article/301914-overview#showall [2017,Nov18]