ซาฟิรลูคาสท์ (Zafirlukast)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซาฟิรลูคาสท์ (Zafirlukast)เป็นหนึ่งในกลุ่มยา Leukotriene receptor antagonists (Leukotriene antagonists) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการของโรคหืด(Asthma) โดยมากจะใช้ยานี้ร่วมกับยาสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น ยาซาฟิรลูคาสท์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน หลังรับประทานตัวยานี้ที่ดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารจะเข้ากระแสเลือด และเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 99% เอนไซม์ CYP2C9(Cytochrome P450 2C9 )จากตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยาซาฟิรลูคาสท์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระ จากกลไกการกระจายตัวของยานี้ในร่างกายเป็นเหตุผลให้ผู้ป่วยหอบหืด/โรคหืดต้องรับประทานยานี้วันละ 2 ครั้ง จึงสามารถควบคุมและป้องกันการเกิดหอบหืดได้ และยาซาฟิรลูคาสท์เป็นยาที่ใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตามยาซาฟิรลูคาสท์ ก็มีข้อจำกัดของการใช้ ข้อห้าม ข้อควรระวัง ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้

  • ห้ามใช้ยานี้บำบัดอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน/อาการที่เกิดขึ้นทันที ด้วยคุณสมบัติของยานี้จะถูกใช้เพื่อป้องกันการเกิดหอบหืด แต่ไม่สามารถบรรเทาอาหารหอบหืดที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ป่วย
  • *ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาดที่แพทย์กำหนด เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับ ผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการเกิดผื่นคันตามผิวหนัง รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง กรณีนี้ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ รวมถึงกับผู้ป่วยผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย เพราะจากรายงานทางคลินิกพบว่า กลุ่มยาLeukotriene antagonist อาจกระตุ้นให้ภาวะซึมเศร้ามีอาการรุนแรงขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยทำร้ายตนเองขึ้นมา
  • กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ร่วมกับยารักษาโรหืดประเภทสเตียรอยด์ แพทย์จะปรับลดขนาดการใช้ยาสเตียรอยด์ลงมา ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาสเตียรอยด์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประสิทธิผลต่อการรักษาอาการหอบหืดอย่างเหมาะสม
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ว่าเห็นสมควรหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ใช้ยาอื่นๆ รวมทั้งยาซาฟิรลูคาสท์โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • การใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นๆบางประเภท อาจทำให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อผู้ป่วยมากขึ้น เช่น ผู้ป่วยใช้ยาซาฟิรลูคาสท์ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้น ผู้ป่วยจึงควรต้องแจ้ง แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีการใช้ยาประเภทใดอยู่ก่อน รวมถึงประวัติเจ็บป่วย มีโรคประจำตัวใดบ้าง
  • การใช้ยานี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ และใช้ยานี้ในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน ห้ามหยุดรับประทานยานี้ทันทีทันใดเพราะจะทำให้อาการหอบหืดกำเริบ รวมถึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร อย่างเคร่งครัด เช่น งดบุหรี่, พยายามอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยจากตัวกระตุ้นอาการหอบหืด อย่างเช่น บริเวณที่มีฝุ่น มีควัน หรือมีขนสัตว์ เป็นต้น
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้แล้วอาการหอบหืด หรือภาวะ/โรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ยานี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของตับ จนเกิดอาการผิดปกติ โดยสังเกตได้จากอาการของผิวหนังและตาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง(ตัวเหลืองตาเหลือง) ปัสสาวะมีสีคล้ำเข้ม มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ เกิดอาการคัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง อ่อนแรง ซึ่งหากพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องหยุดการใช้ยานี้แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันแพทย์นัด
  • กรณีที่เกิดอาการทางจิตประสาท เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ฝันแปลกๆ นอนไม่หลับ ประสาทหลอน กระสับกระส่าย ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ แพทย์อาจนัดตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือ มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล และรับ การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพ้ยา หรือเกิดอาการข้างเคียงจากยาต่างๆที่รวมถึงยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอายุอื่นๆ

ยาซาฟิรลูคาสท์ จัดเป็นยารักษาโรคหืด ที่มีประโยชน์อย่างมากในทางการแพทย์ และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค การใช้ยาชนิดนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว ทั้งนี้ เราสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาซาฟิรลูคาสท์ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Accolate”

ซาฟิรลูคาสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ซาฟิรลูคาสท์

ยาซาฟิรลูคาสท์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาอาการหอบหืดในผู้ป่วยโรคหืด โดยใช้เป็นยาป้องกันการเกิดอาการหอบหืด แต่ไม่สามารถใช้รักษาอาการขณะเกิดอาการหอบหืดได้

ซาฟิรลูคาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซาฟิรลูคาสท์ มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เป็นลักษณะของยากลุ่ม Leukotriene receptor antagonist กล่าวคือ ออกฤทธิ์ในบริเวณช่องทางเดินหายใจ(หลอดลม)ของมนุษย์ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการบวมของหลอดลม รวมถึงลดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบในช่องทางเดินหายใจ และช่วยลดการขับเมือก/สารคัดหลั่งต่างๆ ที่อุดกั้นทางเดินหายใจ จากกลไกที่กล่าวมาจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ซาฟิรลูคาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซาฟิรลูคาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Zafirlukast 10 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด

ซาฟิรลูคาสท์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาซาฟิรลูคาสท์ มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือ หลังอาหาร 2 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 5-11 ปี: รับประทานครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือ หลังอาหาร 2 ชั่วโมง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับ

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซาฟิรลูคาสท์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาซาฟิรลูคาสท์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซาฟิรลูคาสท์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานยาซาฟิรลูคาสท์ต่อเนื่องตรงตามเวลาในแต่ละวันตามคำสั่งแพทย์

ซาฟิรลูคาสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซาฟิรลูคาสท์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง อาเจียน อาหารไม่ย่อย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น อาจเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่าย
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าบิลิรูบินสูง ตับอักเสบ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า

มีข้อควรระวังการใช้ซาฟิรลูคาสท์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซาฟิรลูคาสท์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการหอบหืดเกิดแบบเฉียบพลัน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามขนาดรับประทานที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีเม็ดยาเปลี่ยน เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร รวมถึง เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซาฟิรลูคาสท์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซาฟิรลูคาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซาฟิรลูคาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาซาฟิรลูคาสท์ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่าเช่นยา Warfarin อาจทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือดเพิ่มนานขึ้น และ/หรืออาจเกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยาซาฟิรลูคาสท์ร่วมกับอาหาร ด้วยจะลดการดูดซึมของตัวยานี้เข้าสู่กระแสเลือด
  • ห้ามใช้ยาซาฟิรลูคาสท์ร่วมกับยา Fentanyl ด้วยจะทำให้ระดับยา Fentanyl ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของยา Fentanyl สูงขึ้นตามมา
  • ห้ามใช้ยาซาฟิรลูคาสท์ร่วมกับยา Pimozide ด้วยจะทำให้ระดับยา Pimozide ในเลือดสูงขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา

ควรเก็บรักษาซาฟิรลูคาสท์อย่างไร?

ควรเก็บยาซาฟิรลูคาสท์ในช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ซาฟิรลูคาสท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซาฟิรลูคาสท์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Accolate (แอคโคเลท)AstraZeneca Pharmaceuticals

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Zuvair

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/zafirlukast.html [2017,July1]
  2. http://www.mims.com/philippines/drug/info/zafirlukast?mtype=generic[2017,July1]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Zafirlukast[2017,July1]
  4. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00549[2017,July1]