ซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เป็นกลุ่มยาที่นำมาใช้รักษาโรคเบาหวานประเภท 2 (Diabetes mellitus type 2) ถูกค้นพบโดยคณะนักเคมีนำโดย Marcel Janbon ชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งกำลังศึกษาฤทธิ์ของยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) ที่ใช้ในการต่อต้านแบคทีเรีย และค้น พบว่าซัลโฟนิลยูเรียซึ่งมีโครงสร้างแกนกลางของโมเลกุลที่ใกล้เคียงกับยาซัลโฟนาไมด์ สามารถออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้ จึงได้พัฒนาให้มาเป็นยารักษาเบา หวาน/ยาเบาหวานในคน

เราอาจแบ่งกลุ่มยาซัลโฟนิลยูเรียที่ใช้รักษาโรคเบาหวานออกเป็นรุ่นๆเรียงตามลำดับการผลิตออกจำหน่ายก่อน - หลัง จากมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการควบคุมโรคให้กว้างขวางขึ้นและลดผลข้างเคียงลง โดยเริ่มจากการผลิตในรุนแรก/รุ่นที่ 1 ดังนี้

  • ยารุ่นที่ 1 (First generation): เช่นยา Carbutamide, Acetohexamide, Chlorpropamide, Tolbutamide
  • ยารุ่นที่ 2 (Second generation): เช่นยา Glipizide, Gliclazide, Glibenclamide (Glybu ride), Glibornuride, Gliquidone, Glisoxepide, Glyclopyramide
  • ยารุ่นที่ 3 (Third generation): เช่นยา Glimepiride

ทั้งนี้ กลุ่มยาซัลโฟนิลยูเรียจะออกฤทธิ์ได้ดีก็ต่อเมื่อร่างกายผู้ป่วยยังมีเบต้าเซลล์ (Beta cell, เซลล์สร้างฮอร์โมนอินซูลิน)ของตับอ่อนเพียงพอที่จะผลิตอินซูลินเท่านั้น ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดนี้ จึงไม่สามารถนำยาในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรียไปรักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1 (Diabetes mellitus type 1 เบาหวานที่เกิดจากการขาด Beta cell) หรือผู้ป่วยหลังเข้ารับการผ่าตัดตับอ่อนได้

จากการศึกษาทางคลินิกพบว่า การใช้ยาซัลโฟนิลยูเรียรูปแบบยาเดี่ยวไม่สามารถควบคุมน้ำ ตาลในเลือดกับผู้ป่วยเบาหวานบางกลุ่มได้ จึงต้องใช้ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) หรือ ยาอินซูลินร่วมในการรักษาด้วยกัน ทั้งนี้รูปแบบของยาซัลโฟนิลยูเรียที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดจะเป็นลักษณะของยารับประทานเสียเป็นส่วนมาก

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาบางตัวในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรียลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ เช่นยา Chlorpropamide, Glipizide และ Glibenclamide เป็นต้น การคัดเลือกยาในกลุ่มเหล่านี้มาทำการรักษาผู้ป่วยย่อมต้องขึ้นกับแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ผู้ป่วยไม่สมควรไปซื้อหายามารับประทานเอง

ซัลโฟนิลยูเรียมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซัลโฟนิลยูเรีย

ซัลโฟนิลยูเรียมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคเบาหวานประเภท 2 (Diabetes mellitus type 2)
  • ยาบางตัวจะถูกนำไปรักษาโรคเบาจืดด้วย เช่นยา Chlorpropamide

ซัลโฟนิลยูเรียมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาซัลโฟนิลยูเรียคือ ตัวยาจะเข้าไปกระตุ้นกลไกการทำงานของ เบต้าเซลล์ในตับอ่อนให้หลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมา ทำให้ร่างกายสามารถใช้น้ำตาลในเลือดได้อย่างมีสมดุลมากขึ้น และยังพบว่ายากลุ่มนี้ช่วยลดการสร้างน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในตับ จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์รักษาเบาหวานตามสรรพคุณ

ซัลโฟนิลยูเรียมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซัลโฟนิลยูเรียมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัม/เม็ด เช่น Glibencamide, Glipizide
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด เช่น Chlorpropamide,
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 1, 2, 3 และ 4 มิลลิกรัม/เม็ด เช่นยา Glimepiride

ซัลโฟนิลยูเรียมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการใช้ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียจะขึ้นกับอาการและความรุนแรงโรคของผู้ป่วย จึงส่งผลให้ขนาดรับประทานมีความแตกต่างกันและเป็นเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์เท่านั้นที่สามารถสั่งจ่ายขนาดยาได้ถูกต้องปลอดภัยเหมาะสมกับคนไข้ ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ควรรับประทานยาพร้อมน้ำดื่มสะอาด ห้ามเคี้ยวหรือบดยาก่อนรับประทาน

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาซัลโฟนิลยูเรีย ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาซัลโฟนิลยูเรียอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทาน ยาซัลโฟนิลยูเรีย สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ซัลโฟนิลยูเรียมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซัลโฟนิลยูเรียสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
  • ปวดหัว
  • มีลักษณะคล้ายอาการแพ้ยา (เช่น ขึ้นผื่น มีไข้ หายใจลำบาก)
  • โลหิตจาง/ โรคซีด
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • เกล็ดเลือดต่ำ
  • วิตกกังวล
  • การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • หงุดหงิด
  • สับสน
  • หัวใจเต้นช้า
  • ง่วงนอน

มีข้อควรระวังการใช้ซัลโฟนิลยูเรียอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ซัลโฟนิลยูเรีย เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ
  • ห้ามรับประทานยาซัลโฟนิลยูเรียพร้อมยาเบาหวานตัวอื่น (ด้วยตนเอง) โดยมิได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • รับประทานยานี้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ควรศึกษาการปฐมพยาบาลตนเองเบื้องต้นเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ควรรับประทานยานี้ร่วมกับการควบคุมอาหารที่รับประทานประจำวันที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูง
  • ควรออกกำลังกายตามความเหมาะสมหรือตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมด้วย
  • ตรวจระดับสอบน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอว่าอยู่ในภาวะปกติหรือไม่
  • หากพบอาการแพ้ยา (เช่น มีไข้ ขึ้นผื่น หายใจลำบาก) ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาซัลโฟนิลยูเรียด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ซัลโฟนิลยูเรียมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซัลโฟนิลยูเรียมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียร่วมกับยาบางตัวจะส่งผลให้การออกฤทธิ์ของยาซัลโฟนิลยูเรียในร่างกายนานขึ้น จึงอาจเกิดความเสี่ยงของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำติดตามมา ยากลุ่มดังกล่าวเช่น อนุพันธุ์ของ Acetylsalicylic acid/Aspirin, Allopurinol, Sulfonamides, และยาในกลุ่ม Fibrate (กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคไขมันในเลือดสูง) หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ซัลโฟนิลยูเรียร่วมกับยาบางกลุ่มเช่น กลุ่มสเตียรอยด์ (เช่น Corticosteroids), Isoniazid, การคุมกำเนิดด้วยยาที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน (Estrogen), ยาไทรอยด์ฮอร์โมน/ ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์(เช่นยา Levothyroxine) และยากลุ่ม Sympathomimetics สามารถทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดมีค่าสูงเกินมาตรฐานมาก หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ควรเก็บรักษาซัลโฟนิลยูเรียอย่างไร?

สามารถเก็บยาซัลโฟนิลยูเรีย เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่ควรเก็บยาไว้ในห้องน้ำ และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ซัลโฟนิลยูเรียมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาซัลโฟนิลยูเรียที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Diabinese (ไดเอบินิส)Pfizer
Dibecon (ไดเบคอน)Central Poly Trading
Dibemide (ไดเบไมด์)Suphong Bhaesaj
Propamide (โพรพาไมด์)Atlantic Lab
Daonil (ดาวนิล)sanofi-aventis
Daono (ดาวโน)Milano
Debtan (เด็บแทน)Yung Shin
Diabenol (ไดเอเบนอล)Greater Pharma
Dibesin (ไดเบสซิน)SSP Laboratories
Glamide (กลาไมด์)Community Pharm PCL
Glibenclamide Asian Pharm (ไกลเบนคลาไมด์ เอเซียน ฟาร์ม)Asian Pharm
Glibenclamide GPO (ไกเบนคลาไมด์ จีพีโอ)GPO
Glibetic (ไกลเบติค)The Forty-Two
Glibic (ไกลบิค)Medicine Products
Gliclamin (ไกลคลามิน)Inpac Pharma
Glicon (ไกลคอน)Suphong Bhaesaj
Glimide (ไกลไมด์)Pharmahof
Gluconil (กลูโคนิล)Utopian
Gluzo (กลูโซ)Pharmasant Lab
Locose (โลคอส)T. Man Pharma
Manoglucon (แมโนกลูคอน)March Pharma
Semi Diabenol (เซมิ ไดเอเบนอล)Greater Pharma
Sugril (ซูกริล)Siam Bheasach
T.O. Nil (ที.โอ. นิล)T. O. Chemicals
Xeltic (เซลติค)Unison
Amarax 2 (แอมาแร็กซ์ 2)Charoon Bhesaj
Amaryl (อะมาริล)sanofi-aventis
Amaryl M SR (อะแมริล เอ็ม เอสอาร์)sanofi-aventis
Diaglip (ไดอะกลิบ)Siam Bheasach
Dibiglim (ดิบิกลีม)Sandoz
Glazer (เกลเซอร์)Pharmadica
Glimepiride GPO (ไกลเมพิไรด์ จีพีโอ)GPO
Gliparil 2 (กลีพาริล 2)Polipharm
Losu-3 (โลซู-3)Unison
Dipazide (ดิแพไซด์)Siam Bheasach
Glizide (กลิไซด์)Pharmahof
Glucodiab (กลูโคไดแอบ)Bangkok Lab & Cosmetic
Glucotrol XL (กลูโคโทรล เอ็กซ์แอล)Pfizer
Glycediab (กลัยซีเดียบ)Community Pharm PCL
Glygen (กลีเกน)General Drugs House
GP-Zide (จีพี-ไซด์)Millimed
Minidiab (มินิเดียบ)Pfizer
Namedia (นามีเดีย)Central Poly Trading

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Sulfonylurea[2020,Sept12]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fDipazide%2f%3ftype%3dbrief [2020,Sept12]
3 http://greatplainsregional.adam.com/content.aspx?productId=47&pid=47&gid=601895 [2020,Sept12]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=CHLORPROPAMIDE[2020,Sept12]
5 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=GLIBENCLAMIDE [2020,Sept12]
6 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=GLIPIZIDE [2020,Sept12]