ซอร์บิทอล (Sorbitol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ซอร์บิทอล (Sorbitol หรืออีกชื่อคือ Glucitol) เป็นสารน้ำตาลแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่มีความ หวานเทียบเท่าประมาณ 60% ของน้ำตาล สามารถให้พลังงานกับร่างกายในขนาด 2.6 กิโลแคลอรี /กรัม ซึ่งน้อยกว่าน้ำตาลที่ให้พลังงานประมาณ 4 กิโลแคลอรี/กรัม และร่างกายของมนุษย์สามารถเผาผลาญซอร์บิทอลได้อย่างช้าๆ ทั้งนี้ซอร์บิทอลถูกพบได้ในพืชเช่น ข้าวโพด แอปเปิ้ล พีช และพรุน

มนุษย์ได้ใช้ซอร์บิทอลมาเป็นสารปรุงแต่งผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเช่น ลูกกวาด แยม เจลลี่ และหมากฝรั่ง

แต่ทางคลินิกได้ใช้ซอร์บิทอลเป็นยาระบาย (ยาแก้ท้องผูก) โดยผลิตในรูปแบบของยารับประทานที่มีกลไกทำให้เกิดแรงดันออสโมติก (Osmotic pressure, แรงดันของของเหลว) ภายในลำไส้ ส่งผลให้เพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้จนกระตุ้นให้เกิดการระบายอุจจาระตามมา

ประโยชน์อื่นๆของซอร์บิทอลที่สามารถพบเห็นได้เช่น ใช้เป็นส่วนประกอบปรุงรสชาติในสูตรตำรับยาต่างๆ ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอย่างเช่น น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน โดยซอร์บิทอลจะทำหน้าที่เป็นสารที่เพิ่มความชุ่มชื้นหรือช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มีความหนืดอย่างเหมาะสม แม้แต่บุหรี่บางยี่ห้อยังใช้ซอร์บิทอลมาเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับลำคออีกด้วย

ข้อจำกัดของการใช้ซอร์บิทอลที่มีต่อผู้บริโภคมีบางประการเท่านั้นอาทิ ต้องไม่ใช่ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยา/แพ้สารซอร์บิทอลมาก่อน

อย่างไรก็ตามทางคลินิกยังมีข้อควรระวังหากต้องใช้ซอร์บิทอลในลักษณะเป็นยาระบายกับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือ มีเลือดออกทางทวารหนัก/อุจจาระเป็นเลือด

สำหรับบทความนี้จะขอกล่าวแต่คุณสมบัติของซอร์บิทอลในลักษณะของยารักษาโรคเท่านั้น ส่วนคุณสมบัติที่ใช้เป็นสารให้ความหวานจะเขียนแยกเป็นอีกบทความในเว็บ haamor.com บทความชื่อ “สารให้ความหวานซอร์บิทอล” แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมในบทความนั้น

ซอร์บิทอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ซอร์บิทอล

ซอร์บิทอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อช่วยระบายอุจจาระเพื่อบรรเทาอาการท้องผูก

ซอร์บิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาซอร์บิทอลที่เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาในระบบทางเดินอาหารจะดึงน้ำออกจากหลอดเลือดในลำไส้เข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าปกติ และก่อให้เกิดแรงดันที่เรียกว่าแรงดันออสโมติกในลำไส้ใหญ่เพิ่มสูงขึ้นจนกระตุ้นผนังลำไส้ใหญ่ให้บีบตัวและเกิดการระบายอุจจาระตามมา

ซอร์บิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาซอร์บิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาน้ำชนิดรับประทานขนาดความเข้มข้น 70%
  • ยาน้ำสำหรับสวนทวารขนาดความเข้มข้น 25 - 30%

ซอร์บิทอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาซอร์บิทอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

ก. ชนิดรับประทาน:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 30 - 150 มิลลิลิตรวันละครั้ง
  • เด็กอายุ 2 - 11 ปี: รับประทานยา 2 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดเกี่ยวกับการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

* อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง
  • ไม่ต้องปรับขนาดรับประทานยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต

ข. ชนิดสวนทวาร:

  • ผู้ใหญ่: ใช้ยาในขนาดตามที่ระบุในเอกสารกำกับยานี้หรือตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดเกี่ยวกับการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป แต่โดยทั่วไปแพทย์มักแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาระบายชนิดสวนทวารในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาซอร์บิทอลหรือสารปรุงแต่งอาหารใดเป็นประจำ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้สารทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยา/ใช้สารต่างๆแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/ใช้สารอะไรอยู่ เพราะยาซอร์บิทอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ/และ/หรือกับสารต่างๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาซอร์บิทอลที่เป็นยาระบายชนิดรับประทาน ก็สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

ซอร์บิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาซอร์บิทอลอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น กระตุ้นให้เกิดอาการท้องอืด เป็นตะคริวที่ท้อง อาเจียน ท้องเสียมากจนอาจส่งผลทำให้ระดับเกลือโซเดียมในเลือดต่ำตามมา

มีข้อควรระวังการใช้ซอร์บิทอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาซอร์บิทอลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา/แพ้สารซอร์บิทอล
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาซอร์บิทอลกับผู้ที่มีประวัติแพ้น้ำตาลจากผลไม้/น้ำตาล Fructose
  • ระวังการใช้ยาซอร์บิทอลกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำและขาดเกลือแร่ (Electrolyte)
  • หยุดการใช้ยานี้เมื่ออาการท้องผูกดีขึ้น และใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร และยา/สารซอร์บิทอล ด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยา/ใช้สารควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ซอร์บิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาซอร์บิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น ห้ามใช้ยาซอร์บิทอลร่วมกับยา Sodium polystyrene sulfonate (ยาใช้รักษาภาวะมีโพแทสเซียมในเลือดสูง) ด้วยจะทำให้เกิดการอักเสบ/บาดเจ็บต่อผนังลำไส้เล็ก

ควรเก็บรักษาซอร์บิทอลอย่างไร?

ควรเก็บยาซอร์บิทอลในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ซอร์บิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม?

ยาซอร์บิทอลที่เป็นยาระบายที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าเช่นเดียวกับยาชื่อสามัญ (Generic name) คือ ยา Sorbitol

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sugar_alcohol#Common_sugar_alcohols [2016,July16]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Sorbitol [2016,July16]
  3. https://www.drugs.com/cdi/sorbitol-solution.html [2016,July16]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/kalexate-with-sorbitol-2391-14059-2392-0.html [2016,July16]
  5. http://medicalfs.net.au/images/stories/Orarange/Ora-SweetSF-Sell-Sheet.pdf [2016,July16]