ช่วยหนูจากปอดบวมด้วย ! (ตอนที่ 3)

รศ.พญ.อัจฉรา ตั้งสถาพรพงษ์ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ ร.พ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า โรคปอดบวมติดต่อได้จากการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย รวมถึงสัมผัสโดยตรง เด็กที่ป่วยเป็นปอดบวมมักมี 3 อาการสำคัญ ได้แก่ ไข้ ไอ หอบ

หากเด็กหายใจหอบจนซี่โครงบุ๋ม มีเสียงดังวี้ดๆ ให้สงสัยว่าเด็กอาจเป็นโรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) และเชื้อเอ็นทีเอชไอ (NTHi : Non-typeable Haemophilus influenzae) หากมีไข้สูง ไม่กินนม มีการชักร่วมด้วย ให้รีบพาพบแพทย์โดยด่วน

รศ.พญ.อัจฉรา กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการ ให้ดื่มน้ำมากๆ นอนพักผ่อนในที่อากาศถ่ายเท เช็ดตัวบ่อยๆ เมื่อมีไข้สูงให้กินยาลดไข้ เชื้อนิวโมคอคคัสและเอ็นทีเอชไอที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมในเด็กยังเป็นสาเหตุของโรคหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลต่อการได้ยินและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก

ในปี พ.ศ. 2551 มีเด็กที่ติดเชื้อปอดบวมประมาณ 156 ล้านคน (โดยเด็กจำนวน 151 ล้านคนเป็นในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนอีก 5 ล้านคนเป็นเด็กในประเทศที่พัฒนาแล้ว) ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประมาณการว่า 1 ใน 3 ของทารกที่เสียชีวิตมีสาเหตุมาจากโรคปอดบวม

หลังจากที่มีการติดเชื้อปอดบวม อาการต่างๆ จะแสดงออกในวันที่ 1 - 3 วัน หรือวันที่ 7 - 10 ความรุนแรงของโรคและระยะเวลาที่หายจากโรคขึ้นอยู่กับ . . .

  • อายุและสุขภาพ – คนแก่และคนป่วยมักมีอาการรุนแรง และอาการปอดบวมมันก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ภาวะเลือดมีแบคทีเรีย (Bacteremia) ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (Septicemia)
  • ชนิดของเชื้อที่ติด – ปอดบวมที่ติดจากเชื้อไวรัสจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าปอดบวมที่ติดจากเชื้อแบคทีเรีย
  • ความเร็วในการรักษา – ยิ่งรักษาได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งหายเร็วได้เท่านั้น
  • ระบบภูมิคุ้มครองป้องกันโรคของร่างกาย – ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มครองป้องกันโรคบกพร่องมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันดี

ในผู้ที่มีสุขภาพดี โรคปอดบวมอาจแสดงอาการเพียงเล็กน้อยจนยากที่จะสังเกตเห็น และใช้เวลาในการหายป่วยประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ ส่วนผู้สูงอายุและผู้ที่ปัญหาเรื่องสุขภาพอาจใช้เวลาในการหายป่วยประมาณ 6 - 8 สัปดาห์ ความเสี่ยงในการเป็นโรคปอดบวมจะมีมากขึ้นถ้า . . .

  • สูบบุหรี่
  • มีอาการของโรคอื่นอยู่ด้วย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease = COPD) หรือ โรคหืด (Asthma)
  • อายุน้อยกว่า 1 ปี หรืออายุมากกว่า 65 ปี
  • มีระบบภูมิคุ้มครองป้องกันโรคบกพร่อง (Impaired immune system)
  • ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • อยู่ระหว่างเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่

การป้องกันโรคปอดบวม วิธีที่ดีที่สุด โดยเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทำร่างกายลูกรักให้อบอุ่น และอาจเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนไอพีดี ปอด-หูอักเสบ

แหล่งข้อมูล:

  1. รณรงค์วันปอดบวมโลก ลดอัตราตายเด็กกลุ่มเสี่ยง http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1pXRXdNVEl3TVRFMU5RPT0=§ionid=TURNek1BPT0=&day=TWpBeE1pMHhNUzB5TUE9PQ== [2012, December 6].
  2. Pneumonia. http://en.wikipedia.org/wiki/Pneumonia [2012, December 6].
  3. Pneumonia - What Happens. http://www.webmd.com/lung/tc/pneumonia-what-happens [2012, December 6].
  4. Pneumonia - What Increases Your Risk. http://www.webmd.com/lung/tc/pneumonia-what-increases-your-risk [2012, December 6].